จากสถานการณ์ปัจจุบันอันเนื่องมากจากโควิด-19 ทำให้อาหาร เดลิเวอรี่เป็นที่ต้องการ และมีการพัฒนาขึ้นไปมากทั้งรูปแบบการบริการ คุณภาพของอาหาร และความหลากหลายของเมนู แต่วัฒนธรรมในการกินอาหารของคนไทยนั้นมีรูปแบบละเอียดอ่อนกว่านั้น เช่น บรรยากาศของสิ่งแวดล้อม เมนูที่ต้องมีเครื่องเคียงทั้งของกินเล่นและของหวานที่มีลักษณะกินเป็นชุดมากกว่าอาหารจานเดียว อันเป็นลักษณะของอาหารไทย นอกจากนี้ การเลือกองค์ประกอบของอาหารเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อาหาร เดลิเวอรี่ไม่มี ก็ทำให้เกิดความเบื่อได้ง่าย เมื่อพ้นสถานการณ์นี้ไปแล้ว อาหารเดลิเวอรี่อาจจะยังคงมีอยู่ แต่คงไม่รุ่งเท่าตอนนี้ การกินอาหารแบบเดิมตามวัฒนธรรมของคนไทยก็จะกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง
รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
“อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” มาตรการต้านโควิด-19 ของรัฐบาล เล่นเอาวิถีชีวิตของคนเมืองใหญ่ ๆ แปรสภาพไปหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องทำทุกวี่ทุกวันอย่าง “อาหารการกิน” ก็กระทบเต็ม ๆ
โดยปกติคนไทยกับ “การกิน” นั้น กินได้ทุกที่ ทุกเวลา ยิ่งวิถีชีวิตคนเมืองด้วยแล้ว ชอบจะสะดวกสบาย … อยากได้อะไรต้องได้ ชนิดที่เรียกว่า “รอไม่ได้ ช้าไม่เป็น” เพราะภารกิจที่รัดตัว เวลาที่ไม่ค่อยจะมี แต่ก็อยากได้สุนทรีย์จากทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อมีเวลาและโอกาส
แต่เมื่อถูกกักบริเวณ ต้องอยู่กับบ้านออกไปไหนก็ไม่สะดวก แถมยังมีความหวาดวิตกว่าจะติดเชื้อ โควิด-19 อีก
ความจริงอยู่บ้านว่าง ๆ ไม่ได้ไปไหน น่าจะทำอาหารกินเอง แต่พอดูผลสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่ไปเจาะใจคนไทยทั่วประเทศ 1,242 คน เมื่อวันที่ 5-8 พฤษภาคม 2563 พบว่า
“5 กิจกรรมยอดฮิต” ในภาวะที่ต้องหยุดอยู่กับบ้าน
อันดับ 1 เล่นเฟชบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์ อินสตาแกรม | 84.34% |
อันดับ 2 นอนพักผ่อน | 83.11% |
อันดับ 3 ทำงานที่บ้าน (WHF) | 78.04% |
อันดับ 4 ดูหนัง | 75.70% |
อันดับ 5 ฟังเพลง | 72.44% |
ไม่มี “ทำอาหาร” ติด 1 ใน 5 เลย ทั้ง ๆ ที่แต่ละวันต้องกินอาหาร 3 มื้อ อยู่แล้ว ทำไม? .. เพราะอะไร?
อาจจะมีเหตุผลที่มาจากความเครียดที่ต้องถูกกักบริเวณ ไม่ใช่แค่ ไม่อยากไปติดเชื้อที่ตลาดสด หรือเพียงแค่ร้านอาหารปิดบริการเท่านั้น หรือพื้นฐานเดิม ๆ ของคนไทยที่ “อยู่เฉย ๆ ก็หลับ ขยับก็กิน” เมื่อจะกินไม่มีวัตถุดิบจะทำ เปิดตู้เย็นก็มีแต่ไข่ ทั้งเบื่อทั้งขี้เกียจ ผนวกกับความเครียด ก็อยากได้ความสะดวกสบาย “อาหารเดลิเวอรี่” จึงเข้ามาสอดรับพอดิบพอดี ช่างเหมาะเจาะเสียจริง ๆ !!
ตอนแรกผู้เขียนก็คิดว่า “อาหารเดลิเวอรี่” คงจะมาแทนที่การทำอาหาร และหิ้วกับข้าวถุงกลับบ้านชั่วครู่ชั่วยาม เมื่อ โควิด–19 จางหายไป การทำอาหารกินเองก็น่าจะหวนกลับมาดั่งเดิม
แต่พอพลิกไปดูผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน จากคำถามที่ว่า “หากสถานการณ์ โควิด–19 หมดลง ลูกค้ายังสนใจจะสั่งอาหารเดลิเวอรี่อยู่หรือไม่”
96.03% ตอบว่า “สนใจที่จะสั่งอาหารเดลิเวอรี่ต่อไปอีก”
เมื่อได้เสพก็ยิ่งจะติด! ถ้ายิ่งได้อาหารที่ถูกปาก ถูกใจ เชื่อมั่นในความสะอาด ปลอดภัย อะไรหรือ จะมาฉุดรั้งได้
แต่ก็ต้องมองในมิติการคาดการณ์ว่า โควิด-19 จะเปลี่ยนวิถีชีวิตคนไทย ไปจากเดิมและพฤติกรรม ที่เปลี่ยนไปโดยเกิดคำว่า “New normal” โดยเฉพาะการกินอยู่ที่ “Digital Takeover” จะเข้ามาอำนวยความสะดวกสบายในการใช้งาน จาก โควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งพฤติกรรมผู้บริโภคให้ยับยั้งและป้องกันการแพร่เชื้อ ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการดิจิทัลอย่างจริงจัง
ประเด็นดังกล่าวนี่เองที่มีส่วนผลักดันให้บริการเดลิเวอรี่ออนไลน์เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
“อาหารเดลิเวอรี่” จึงเป็นบริการที่ตอบสนองผู้บริโภคไม่ใช่แค่ความสะดวกสบาย แต่ตอบสนองความต้องการที่ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตนอกบ้าน โดยเฉพาะจะต้องไปแออัดยัดเยียดในตลาดสด นี่ยังไม่รวมถึงการใช้เงินสดที่น้อยลง โดยผู้ให้บริการอาหารเดลิเวอรี่เปิดช่องทางการชำระค่าอาหารด้วย
แอปพลิเคชันโมบายแบงก์กิ้ง อีเพย์เมนต์ รวมไปถึงเครดิตการ์ดอีกต่างหาก
“ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่” จึงก้าวเข้าสู่ยุคทองก็ว่าได้
แต่อย่าประมาทว่า “คนไทยอะไรก็ได้” นะ ยิ่งธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่เฟื่องฟู แข่งขันกันอย่างดุเดือด ก็เป็นโอกาสทองของผู้บริโภคเช่นเดียวกันเพราะผู้บริโภคก็กำลังมองหา สิ่งที่มากกว่ารสชาติและความสะอาดโดยแสวงหา ความสะดวกรวดเร็ว ช่องทางการติดต่อที่เข้าถึงได้ง่าย เมนูอาหารสุดเจ๋ง รายละเอียดราคาต้องชัดเจน บริการที่สุดประทับใจ รวมถึงโปรโมชั่นเด็ด ๆ
รายละเอียดดังกล่าว สอดคล้องกับผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ที่ผู้ใช้บริการ “อาหารเดลิเวอรี่” ระบุว่า สะอาดถูกหลักอนามัย (97.73%) ความสะอาดของพนักงานส่งอาหาร (94.83%) รสชาติอร่อย (94.28%) ราคาถูก/ย่อมเยา (92.56%) ส่งตรงเวลา (92.11%) ฯลฯ
แม้อยากจะสรุปว่า พฤติกรรมการกินอยู่ของคนไทยในเมืองใหญ่ ๆ มีจริตที่เอื้อต่อ “อาหารเดลิเวอรี่” อยู่แล้ว แต่เมื่อ โควิด-19 เป็นตัวเร่งและได้ทำให้การกินอยู่ของคนไทยซึ่งเป็นหนึ่งใน New normal จึงยากที่จะด่วนสรุปได้
ดังนั้นผู้ประกอบการ “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่” คงจะต้องมองผ่าน “ข้อมูล” เหล่านี้ให้ทะลุ
ปรุโปร่งจริง ๆ จึงจะมีโอกาสที่จะครองใจลูกค้าได้ตลอดกาล !
รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรีสุดา วงศ์วิเศษกุล
คณะบดีคณะพยาบาลศาสตร์
ในภาวะที่มีการระบาดของ COVID-19 มาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การทำงานที่บ้าน (Work from Home) ก่อให้เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่คือการสั่งอาหารปรุงเสร็จหรือกึ่งปรุงสำเร็จจากร้านอาหารมารับประทานที่บ้านผ่าน Food Delivery Application กล่าวได้ว่า “อาหารเดลิเวอรี่” ได้รับความนิยมมากในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ในที่นี้ ขอฝากแง่คิดในการใช้บริการ “อาหารเดลิเวอรี่” ไว้สักเล็กน้อย เรื่องแรกคือ ความปลอดภัยจากการปนเปื้อนเชื้อในระหว่างขนส่ง จึงควรสั่งอาหาร/เครื่องดื่มจากร้านที่ใช้บรรจุภัณฑ์ปิดมิดชิด สามารถใช้แอลกอฮอล์พ่น/เช็ดห่อบรรจุอาหารก่อนเปิดได้ หรือหากพบว่ากล่องอาหารปิดไม่สนิท ควรอุ่นให้ร้อนจัดก่อนรับประทาน เรื่องที่สอง คือ คุณค่าทางโภชนาการ การสั่ง“อาหารเดลิเวอรี่” ที่อุดมด้วยแป้ง ไขมัน น้ำตาล หรือเกลือ อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพในระยะยาว จึงควรรับประทานในปริมาณที่สมดุลกับความต้องการของร่างกายและเพิ่มการออกกำลังกายในบ้าน เรื่องสุดท้ายคือ กระบวนการผลิต ควรสั่งอาหารที่ปรุงสุกเสร็จใหม่จากร้านที่ไม่ห่างจากที่พักมากนักเพื่อให้อาหารยังคงร้อนเมื่อได้รับ
หากมีผักหรือผลไม้สด ควรล้างสะอาดก่อนรับประทาน นอกจากนี้ การเลือกสั่งอาหารจากผู้ผลิต ที่เชื่อถือได้ เช่น บริการ “อาหารเดลิเวอรี่” จากHome Bakery มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ย่อมได้รับประทานอาหารคุณภาพ สมราคา อุดมด้วยคุณค่าทางอาหาร และรสชาติที่ถูกใจ
นางสาวรณิดา ศรีธนาวรุณ
Suan Dusit Delivery กับระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO 9001:2015
สำหรับ Food Delivery การจัดการคุณภาพในการผลิตอาหารที่ดี มีการสื่อสารและปฏิบัติงานตามนโยบายคุณภาพร่วมกัน คือ “เราจะผลิตและบริการที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง” ผ่านกิจกรรมคุณภาพดังนี้
1. ผู้ปฏิบัติงานทุกทีม เป็นผู้ที่มีสุขภาพที่ดีเป็นไปตามข้อกำหนดด้านสุขาภิบาลอาหาร และมีองค์ความรู้ในการปฏิบัติงานอย่างถูกต้อง ถือเป็นหัวใจที่สำคัญที่สุดเพื่อผลิตอาหารให้ปลอดภัย(Safety)
2. ครัวผลิตอาหารและเครื่องมืออุปกรณ์ มีการออกแบบและติดตั้งรวมทั้งทำความสะอาดและบำรุงรักษาให้เป็นไปตามหลักของ GMP)เพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้าม(cross contamination)
3. การผลิตอาหาร เราใส่ใจทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบเมนูโดยทีมพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อกำหนดตำรับคุณลักษณะของอาหารและรูปแบบการจัดตกแต่ง และส่งมอบให้กับทุกทีมที่เกี่ยวข้อง มีระบบการจัดการ การรับ Order และส่งมอบให้กับลูกค้าตรงตามเวลา (delivery on time) เป็นเอกสารคู่มือในการปฏิบัติงาน เพื่อใช้ในการสื่อสารให้ชัดเจนเข้าใจตรงกัน ทั้งนี้ทุกๆ ขั้นตอนมีการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพเพื่อประกันคุณภาพ (QA) ดังสโลแกนที่ว่า “ทุกคำคือคุณภาพใส่ใจในบริการ”