การจัดการขยะ “จากอาหารเดลิเวอรี่”

อาหารทูโก (To Go) น่าจะเป็นทางเลือกที่ตอบสนองความต้องการได้ดีในระยะยาว เพราะผู้บริโภคสามารถเลือกได้ในหลากหลายรูปแบบ ตามลักษณะของการกินไม่ว่าจะเป็นกินแบบมีบรรยากาศ กินแบบรีบเร่ง เตรียมไว้เพื่อที่จะกินในภายหลังหรือเอาไปให้คนอื่นกิน ความมีอิสระใน การเลือกและการได้สัมผัสอาหารที่จะกินโดยตรง ทาให้มีความรู้สึกที่ดีต่ออาหารที่จะกินมากกว่าอาหารเดลิเวอรี่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ของ คนเมือง น่าจะสะท้อนความต้องการของอาหารทูโกได้เป็นอย่างดี

รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

         ปัจจุบันขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาที่สร้างวิกฤตที่สำคัญให้กับสิ่งแวดล้อมในระดับโลก เนื่องจากขยะพลาสติกได้ก่อให้เกิดมลภาวะการแพร่กระจายของสารพิษที่อยู่ในพลาสติกไปในอากาศ ปนเปื้อนในแหล่งน้ำ ดิน และอาหาร สร้างผลกระทบต่อมนุษย์ สิ่งมีชีวิตต่างๆ และก่อให้เกิดปัญหาภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นประเด็นที่ทุกประเทศให้ความสนใจ และให้ความสำคัญในการลดการใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น เห็นได้จากการที่มีมาตรการ นโยบาย หรือแนวทางการปฏิบัติในการลดการใช้ถุงพลาสติก เช่น การให้ร้านค้าเก็บเงินค่าถุงพลาสติก การไม่ให้ถุงพลาสติกกรณีมาซื้อของ เพื่อเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมการลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น

         จากสถานการณ์ปัญหาขยะพลาสติกดังกล่าวมีผลการสำรวจข้อมูลทั่วโลก พบว่ามีการใช้ถุงพลาสติกถึง 5 แสนล้าน ถึง 1 ล้านล้านใบต่อปี หรือเฉลี่ยทุก 1 นาทีจะมีการใช้ถุงพลาสติกอย่างน้อย 1 ล้านใบ และสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยนั้นนอกจากจะมีอัตราการทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากติดอันดับต้น ๆ ของโลกแล้วข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังพบว่าคนไทยใช้ถุงพลาสติกมากถึง 45,000 ล้านใบต่อปี หรือเฉลี่ยคนละ 8 ใบต่อวัน โดยรายงานสรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 พบว่า ปริมาณขยะมูลฝอยที่เกิดขึ้นมีจำนวน 27.8 ล้านตัน พบพลาสติกในขยะชุมชน ประมาณ 2 ล้านตัน นำเข้าสู่ระบบ
รีไซเคิลประมาณ 500,000 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขวดพลาสติก และมีขยะพลาสติกส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน แบ่งออกเป็นถุงพลาสติกประมาณ 1.2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือเป็น แก้ว กล่อง ถาด ขวด ฝาจุก โดยที่ผ่านมานั้นประเทศไทยมีกรอบและทิศทางการดําเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปีพ.ศ.2561 เป็นต้นมา โดยในปีพ.ศ.2563 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้เพิ่มความเข้มข้นของแคมเปญการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ร่วมกับ 80 องค์กรห้างสรรพสินค้า ร้านค้าสะดวกซื้อ ตลาดสดทั่วประเทศ ไม่แจกถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยคาดว่าจะสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้วได้มากกว่า 2,000 ล้านใบ หรือประมาณ 5.7 ล้านกิโลกรัม

         แต่ด้วยสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมามีการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเพื่อควบคุมโรคระบาดโดยมีข้อกำหนดต่างๆ รวมทั้งการปิดสถานที่เสี่ยง ห้ามเดินทางข้ามจังหวัดและการประกาศเคอร์ฟิวนั้น ทำให้ต้องมีการขอความร่วมมือประชาชนจำกัดการเดินทาง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” และทำงานอยู่บ้าน (Work from Home) ทำให้ประชาชนอยู่บ้านมากขึ้นและส่งผลต่อการใช้บริการสั่งสินค้าออนไลน์ บริการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ (Food delivery) มากขึ้น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปในรูปแบบ New Normal เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และลดผลกระทบอื่นๆ แต่ด้วยวิถีชีวิตในรูปแบบ New Normal ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดขยะพลาสติกจาการใช้บริการสั่งอาหารในรูปแบบเดลิเวอรี่ ที่ประกอบด้วยบรรจุภัณฑ์หีบห่อและอุปกรณ์ต่างๆ ไม่น้อยกว่า 5 ชิ้นต่อการสั่งอาหารแต่ละครั้ง เช่น ถุงพลาสติก กล่องพลาสติกใส่อาหาร ถุง/ซองพลาสติกแยกชนิดอาหาร ซองเครื่องปรุงรส แก้ว/ฝาพลาสติกเครื่องดื่ม ตะเกียบ ช้อน ส้อมพลาสติก ซองพลาสติกใส่ตะเกียบหรือช้อน ส้อมพลาสติก เป็นต้น โดยรายงานของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่รัฐบาลขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านและสั่งปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการติดต่อของโรคนั้น ปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งจากบริการรับส่งอาหารเดลิเวอรี่  เพิ่มขึ้นถึง 15% จากวันละ 5,500 ตัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน

         นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหาสำคัญที่เกิดจากขยะอาหารเดลิเวอรี่คือประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ทำให้ขยะที่เกิดขึ้นในแต่ละวันมีเศษอาหารปะปนมากับขยะพลาสติก ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากการขาดความตระหนักที่มาจากความเคยชินในความสะดวกสบายที่ไม่ต้องเก็บล้างบรรจุภัณฑ์หีบห่อและอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการรับประทานอาหาร รวมทั้งอาจขาดความรู้ในการคัดแยกที่ถูกต้องทำให้ขยะพลาสติกปนเปื้อนเศษอาหาร

         เมื่อขยะส่วนใหญ่ปนเปื้อนเศษอาหารและไม่มีการแยกประเภทขยะที่เหมาะสมจึงถูกนำไปกำจัดโดยการเทกองหรือฝังกลบ ส่งผลต่อปริมาณขยะพลาสติกให้เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประชาชนทั่วไปนั้นสามารถมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะอาหารเดลิเวอรี่ได้โดยใช้วิธีการ “ลด” ด้วยการปฏิเสธที่จะรับช้อน ส้อม หลอดพลาสติก หรือเครื่องปรุงรส เป็นต้น และวิธีการ “คัดแยก” ด้วยการแยกขยะประเภทเศษอาหารก่อนล้างทำความสะอาดบรรจุภัณฑ์ แล้วจึงรวบรวมขยะพลาสติกเหล่านี้ไปรีไซเคิล นำมาใช้ซ้ำ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า (Upcycle)  หรือนำไปรวบรวมไว้ที่จุด Drop off Point ในโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” หรือโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ”
(เมื่อคุณหมุนเวียน)
โดยจุดดังกล่าวจะรับขยะพลาสติก 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็งที่ผ่านการทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหากมีการสร้างเจตคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับการจัดการขยะจากอาหารเดลิเวอรี่ที่ถูกต้องให้กับประชาชน ก็จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการลดปัญหาดังกล่าวได้

         ในส่วนแนวทางของธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่นั้น ผู้ประกอบการธุรกิจควรเพิ่มทางเลือกในการสั่งอาหารผ่านแอพพลิเคชั่น โดยให้ผู้สั่งอาหารสามารถระบุว่าจะรับหรือไม่รับช้อน ส้อม หลอดพลาสติก หรืออุปกรณ์สิ่งอื่นๆ ที่ไม่ต้องการได้ รวมถึงการเปลี่ยนมาใช้ถุงกระดาษเพื่อทดแทนถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) การปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้จากพลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นภาชนะแบบย่อยสลายได้ การเลือกใช้ภาชนะบรรจุอาหารแบบที่สามารถใช้งานซ้ำได้มาใช้แทนภาชนะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือการเลือกใช้ถุงพลาสติกคุณภาพสูงพิเศษ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำถุงพลาสติกมาหมุนเวียนใช้ซ้ำได้ สำหรับมหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้ดำเนินโครงการ “สวนดุสิตเดลิเวอรี่” ซึ่งเป็นงานบริการอาหารเดลิเวอรี่ จากเชิงทฤษฎีสู่การปฏิบัติบนความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย โดยภายใต้การดำเนินการดังกล่าวมหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงการจัดการขยะ “จากอาหารเดลิเวอรี่” เพื่อลดปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกจึงได้เลือกใช้ถุงกระดาษเพื่อทดแทนถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งให้ผู้สั่งอาหารสามารถระบุว่าจะรับหรือไม่รับบรรจุภัณฑ์หีบห่อและอุปกรณ์ต่างๆ ได้ตามความต้องการ อีกทั้งยังมีแนวทางในการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์เป็นภาชนะแบบย่อยสลายได้ ภายใต้แนวคิดการจัดการขยะเหลือศูนย์ (Zero Waste Management) ด้วยหลักการ 3R ได้แก่ Reduce ( ลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (การแปรรูปมาใช้ใหม่) ในการจัดการของเสีย การหมุนเวียนและใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้กับนักเรียน นักศึกษา และบุคลากรเพื่อการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า และช่วยลดปริมาณขยะให้น้อยลง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยยังได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) เพื่อส่งเสริมให้นักเรียน นักศึกษา บุคลากร ประชาชน และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยเข้าใจถึงความสำคัญของการ
คัดแยกขยะ การป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก ก่อเกิดการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตเพื่อคืนสมดุลให้กับธรรมชาติลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุดในรูปแบบการใช้ชีวิตแบบ New Normal ที่ช่วยลดขยะ
“จากอาหารเดลิเวอรี่” ไม่ใช่ New Normal ที่สร้างขยะ“จากอาหารเดลิเวอรี่”

ดร.พรธิดา เทพประสิทธิ์
ผู้อำนวยการศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชชา ฉิมพลี

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ขยะจากอาหารเดลิเวอรี่

         จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคคนไทยนิยมสั่งอาหารเดลิเวอรี่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณขยะพลาสติกมีปริมาณสูงขึ้นถึงสองเท่าจากสถานการณ์ปกติ แนวทางหนึ่งในการลดปริมาณขยะที่เพิ่มจำนวนขึ้น คือ 4R คือ Reduce, Replace, Reuse และ Recycle ผู้บริโภคสามารถ Reduce  หรือ “ลด” ปริมาณขยะได้ โดยการปฏิเสธที่จะรับช้อนส้อม หรือหลอดพลาสติก หรือเครื่องปรุง  การ Replace  หรือ “เลือกแทนที่” โดยเลือกสั่งและอุดหนุนอาหารจากผู้ประกอบการอาหารเดลิเวอรี่ที่ใช้ภาชนะที่รักษาสิ่งแวดล้อม แบบ eco-packaging  การ Reuse หรือ “นำกลับมาใช้ซ้ำ” โดยเลือกสั่งและอุดหนุนอาหารแบบผูกปิ่นโตหรือใช้ภาชนะที่สามารถใช้ซ้ำได้ และสุดท้าย การ Recycle หรือ “คัดแยก” ขยะที่ยังมีประโยชน์ หรือสามารถนำไป Recycle ได้ออกมา เป็นการจัดการขยะแบบหมุนเวียน มีการใช้งานอย่างคุ้มค่า แยกขยะถูกประเภท และทิ้งถูกที่ เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จริง ได้แก่ การนำขยะไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ใหม่ หรือนำไปเป็นพลังงานทดแทนเป็นการลดปริมาณการกำจัดขยะที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการฝังกลบ และเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เพียงเท่านี้ท่านจะเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นางสาวสิรินดา ศักดิ์ศรี

เจ้าหน้าแผนกประกันคุณภาพอาหาร. สวนดุสิตโฮมเบเกอรี่

       ขยะกับเดลิเวอรี่

         การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากมีการประกาศใช้มาตรการต่างๆ มีการจำกัดการเดินทางของประชาชน รวมถึงการทำงานอยู่บ้าน (Work From Home) ทำให้ประชาชนหันมาใช้บริการออนไลน์และเดลิเวรี่จากผู้ให้บริการต่าง ๆ เช่น Lineman, Grab Food, Food panda และ Get โดยลูกค้าสามารถเลือกบริการและราคาที่ถูกที่สุดได้ สามารถเข้าถึงร้านอาหารใหม่ๆ และยังเพิ่มช่องทางการค้าให้กับธุรกิจอาหารเช่นกัน

         การใช้บริการเดลิเวอรี่อำนวยความสะดวกก็จริง แต่สิ่งที่ได้มานอกจากอาหารหรือสินค้านั้นคือขยะจำนวนมาก ได้แก่ ถุงพลาสติก กล่องกระดาษใส่อาหาร กล่องพลาสติกใส่อาหาร  ตะเกียบไม้หรือพลาสติก ช้อนและส้อมพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายยาก ในฐานะที่เป็นทั้งให้บริการและผู้บริโภค เราสารมารถเลือกกำจัดปัญหาขยะเหล่านี้ได้โดยการลดขยะพลาสติกที่เป็นช้อน ส้อมหรือหลอดพลาสติก กรณีที่หลีกเลี่ยงการใช้ไม่ได้แต่เราสามารถช่วยโดยการคัดแยกบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วก่อนนำไปทิ้ง ซึ่งทางเลือกนี้สามารถลดปริมาณขยะพลาสติก รวมถึงขยะประเภทอื่น ๆ ได้หลากหลายชนิด จึงเป็นทางเลือกที่ดีในการจัดการกับขยะพลาสติกชนิดที่ไม่สามารถไปรีไซเคิลต่อได้