วิถีชีวิตของคนในเมืองใหญ่ทำให้วัฒนธรรมในการกินอาหารเปลี่ยนแปลงไป การใช้ชีวิตในคอนโดมิเนียม อพาร์ทเม้นท์ หอพัก หรือบ้านพักที่อยู่นอกเมืองออกไปที่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง fast foods และ street foods จึงมีบทบาทเพิ่มขึ้นมาก เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น food delivery กลายเป็นทางเลือกที่ถูกกระตุ้นให้เจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หากสถานการณ์ยังคงต่อเนื่องในระยะยาว การกินอาหารโดยใช้ food delivery จะเป็นวิถีชีวิตใหม่ของคนในเมือง
รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
หลายคนอาจยังคงสงสัยว่าบริการเดลิเวอรี่ (Delivery) คืออะไร อาจจะบอกได้ว่าเดลิเวอรี่ ก็คือ “บริการจัดส่งถึงที่” นั่นเอง ปัจจุบันธุรกิจเดลิเวอรี่เติบโตเร็วมาก โดยเฉพาะธุรกิจบริการส่งอาหาร “ฟู้ดเดลิเวอรี่” (Food Delivery) คนกรุงฯ รู้จักและคุ้นเคยกับธุรกิจบริการส่งอาหารหรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ จริง ๆ จัง ๆ น่าจะเป็นยุคที่ร้านพิซซ่าและฟาสต์ฟู้ดต่าง ๆ เข้ามาในไทยใหม่ ๆ แม้ร้านอาหารบางร้านจะไม่มีบริการเดลิเวอรี่เป็นของตัวเอง แต่ก็มีรถจักรยานยนต์รับจ้างละแวกใกล้เคียงบริการ ส่วนใหญ่จะให้บริการลูกค้าประจำแต่ก็ยังไม่แพร่หลาย และแข่งกันดุเดือดอย่างทุกวันนี้
เทรนด์การเติบโตของธุรกิจ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ยังมีแนวโน้มการเติบโตค่อนข้างสดใส เพราะส่วนหนึ่งเข้าไปรองรับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนเมืองรุ่นใหม่ที่ “รอไม่ได้ ช้าไม่เป็น” ทำให้ทุกคนจึงยอมซื้อความสะดวกสบาย จากเหตุผลที่ทำให้อาหารเดลิเวอรี่ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมไทย
แล้วยิ่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งทำให้ร้านอาหารไม่สามารถให้บริการภายในร้านได้ เหลือไว้เพียงบริการซื้ออาหารกลับบ้าน และส่งอาหารถึงบ้านเท่านั้น ก็ยิ่งเปรียบเสมือนว่า “อาหารเดลิเวอรี่” ได้พบทางเบี่ยงในยุค “โควิด-19” ที่ทำให้ธุรกิจเดลิเวอรี่ได้รับความนิยมและเติบโตขึ้นทวีคูณ เพราะเป็นวิธีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของร้านอาหาร
ภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของการเติบโต ก็คือ ผลการสำรวจ ซึ่งพบว่า การจัดส่งอาหารออนไลน์เดลิเวอรี่ผ่านแอปพลิเคชัน ฟู้ดแพนด้า (foodpanda) มีปริมาณการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 20-25 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ขณะที่บริการฟู้ด เดลิเวอรี่ของ LINE MAN มียอดการใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า จากช่วงเวลาปกติ นอกจากนั้นยังมีร้านอาหารใหม่ๆ สมัครเข้ามาจำนวนมาก
นี่คือ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่า อาหารเดลิเวอรี่ ยังมีอนาคตที่สดใส แล้วหากผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นอย่างไร? ผลการสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อ “อาหารเดลิเวอรี่” รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,043 คน ในประเด็น “อาหารเดลิเวอรี่” ที่ลูกค้าต้องการ ทำให้พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
- ความถี่ในการสั่งอาหารต่อเดือน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.86 “สั่งอาหาร 2-5 ครั้ง ต่อเดือน”
- ค่าใช้จ่ายในการสั่งอาหารต่อครั้ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 21.52 “สั่งอาหารครั้งละ 101-200 บาท”
- สถานที่ที่นำอาหารไปรับประทาน พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.68 “สั่งอาหารไปรับประทานที่บ้าน”
- จำนวนคนที่รับประทานอาหารในแต่ละครั้ง พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ36.05 มีจำนวนคนที่รับประทานอาหาร 1-2 คน
- การเปรียบเทียบอัตราการสั่งอาหารก่อนและหลังสถานการณ์โควิด-19 พบว่า หลังมีสถานการณ์โควิด-19 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.75 “สั่งอาหารมากขึ้นกว่าเดิม”
- ความสนใจในการสั่งอาหารหลังจากสถานการณ์โควิด-19 สิ้นสุด พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 90.03 “สนใจจะสั่งอาหารต่อไป”
- ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจสั่งอาหารเดลิเวอรี่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ตัดสินใจจาก ความสะอาดถูกหลักอนามัย ร้อยละ 97.73 รองลงมาคือ ความสะอาดของพนักงานส่งอาหาร ร้อยละ 94.83 รสชาติอร่อย ร้อยละ 94.28 ราคาถูก/ย่อมเยา ร้อยละ 92.56 และส่งตรงเวลา ร้อยละ 92.11
ผลการสำรวจเกี่ยวกับ “อาหารเดลิเวอรี่” ที่ลูกค้าต้องการ ไม่เพียงแต่จะสะท้อนให้เห็นพฤติกรรมของผู้ใช้บริการอาหารเดลิเวอรี่เท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของพฤติกรรมของผู้ใช้บริการในอนาคตว่า แม้วิกฤติโควิด-19 จะผ่านไป แต่เชื่อว่า คนไทยยังคงคุ้นชินกับ “อาหารเดลิเวอรี่” ไปอีกนานแสนนาน
ดังนั้น แม้จะผ่านพ้นยุคโควิด-19 ไปแล้ว แต่ก็กล้า “ฟันธง” ว่า “อาหารเดลิเวอรี่” ยังคงเป็นธุรกิจที่รุ่งแน่แน่…!! เพราะ ณ วันนี้ อาหารเดลิเวอรี่ ไม่ได้เป็นแค่ “ทางเบี่ยง” เพื่อแก้ปัญหาช่วงโควิด-19 เท่านั้น แต่เป็น “ทางหลัก” ทั้งในมิติการทำธุรกิจ หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ที่ต้องการกินอาหารอร่อยแต่ไม่เสียเวลารอคอย…การใช้ชีวิตในบ้าน เพื่อหลีกหนีมลพิษ หรือแม้แต่โรคภัยต่าง ๆ
เป้าประสงค์สูงสุดของข้อเขียน “อาหารเดลิเวอรี่” จาก “ทางเบี่ยง” ช่วงโควิด-19…กลายเป็น “ทางหลัก” คงไม่ใช่แค่เพียงต้องการให้คนรู้ความเป็นมาของ “อาหารเดลิเวอรี่” หรือสื่อให้เห็นถึงพฤติกรรมการใช้บริการเดลิเวอรี่แต่ต้องการสื่อให้เห็นความสำคัญของการหาทางเลือกเพื่อทางรอด…การคิดเพื่อรับความเปลี่ยนแปลง…ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ หรือแม้แต่ลงมือทำบนฐานขององค์ความรู้ เพื่อสร้างความอยู่รอด”… ทักษะเหล่านี้ต่างหาก คือ สิ่งที่คนไทยทุกคน จำเป็นต้องเรียนรู้อย่างแท้จริง…!!
ณ วันนี้ แม้จะมีหลากหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 จนแทบเอาตัว ไม่รอด แต่ก็คงต้องยอมรับว่า “อาหารเดลิเวอรี่” คือ อีกหนึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของการปรับตัว เพื่อความอยู่รอดในยุคโควิด-19 ซึ่งหากมนุษย์เรียนรู้ที่จะปรับตัวแล้ว ต่อให้ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอีกกี่ครั้ง…เชื่อว่าอยู่รอดได้แน่นอน..!!
ถ้าไม่เชื่อ!! ก็ต้องลองทำดู…!!
ผศ.ดร.พิทักษ์ จันทร์เจริญ
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ณภัค ธัญฐิติโชติ แนวทางการลงสู่การปฏิบัติ อาหารเดลิเวอรี่
ความยากง่ายของการจัดส่งเดลิเวอร์รี่นั้น คือการบริหารจัดการ ซึ่งอาจมองได้เป็น 3 มิติ
1. มิติเรื่องเวลา การบริหารเวลาให้ส่งได้ด่วน ส่งเร็วทันใจลูกค้า 2. มิติด้านการจัดส่ง คือการจัดส่งไปให้ถูกสถานที่ ในเวลาที่จัด และประหยัดทรัพยากรและต้นทุนด้านน้ำมันเชื้อเพลิง 3. มิติการบริหารคน คือการบริหารจัดการคน การคัดเลือกพนักงานที่มีความชำนาญแต่ละเส้นทาง การกระตุ้น ให้พนักงานเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้จัดส่งได้ถูกต้อง รวดเร็ว
“รู้เวลา รู้สถานที่ เพื่อจัดพนักงานส่ง จะได้ส่งของถึงมือลูกค้าได้ทันเวลาและความต้องการ”
ศักดิ์ชวิน คำอินทร์ เคล็ดลับในการปฏิบัติงานส่ง อาหารเดลิเวอรี่
จากปัญหาการจัดส่งให้ลูกค้ากรณีที่อยู่ไม่ชัดเจน การปักหมุดของ GPS ต้องให้ความสำคัญและวางแผน “รู้สถานที่และเวลาจัดส่งที่ชัดเจน ศึกษาเส้นทางการจราจร วางแผนการปล่อย สายส่งออก ส่งตามความเหมาะสมตามระยะทางใกล้ไกล”