อาหารเดลิเวอรี่ : PR อย่างไรจึงจะโดนใจ “ลูกค้า”

การประชาสัมพันธ์และการโฆษณาในปัจจุบันแยกกันไม่ออก เพราะมาตรฐานการโฆษณาและการนำเสนอรูปแบบที่หลากหลายทำให้การโฆษณาเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากกว่า อาหารเดลิเวอรี่ถ้าประชาสัมพันธ์ตามรูปแบบก็อาจจะขาดแรงจูงใจของลูกค้า ถ้าเติมเต็มด้วยรูปแบบทาง การโฆษณาลงไปด้วย ก็จะมีผลให้เกิดภาพรวมของสินค้า และกระตุ้นให้ลูกค้ามีความสนใจการโฆษณาที่ดีที่สอดแทรกเนื้อหาทางของความถูกต้องตามข้อมูล และใช้ช่องทางของการสื่อสารที่หลากหลายก็มีโอกาสที่จะทำให้สินค้าไปได้ด้วยดี

รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

         วันนี้ ขอเริ่มต้นแบบตรงใจผู้อ่านสักวัน! โดยจะนำผลสำรวจ ของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในหัวข้อ PR อย่างไร ? ให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเดลิเวอรี่ ถามกันแบบนี้เจาะตรงประเด็นไม่ต้องอ้อมค้อม กับผู้ที่เคยใช้บริการอาหารเดลิเวอรี่จำนวน 326 คน เก็บข้อมูล 1- 3 มิถุนายน 2563 แบบออนไลน์ รวดเร็วทันใจจริงๆ ผลสรุปมีดังนี้

         เริ่มตั้งแต่ สื่อ ใดที่ลูกค้าใช้ในการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ อันดับ 1 มาแรงต้องยกให้เฟสบุ๊ค 34.97% ตามมาด้วยไลน์ 23.93% เพื่อน/ญาติ 20.86% โทรทัศน์ 6.44% และยูทูป 5.83%

          เนื้อหา ที่โดนใจ เรียกว่า ถ้าเห็นข้อความนี้จากลูกค้าจะบอกว่า “สั่งเลย!” นั่นก็คือ อันดับ 1 รสชาติ 26.38% ส่วนอันดับ 2 รายการอาหาร 16.26% ตามมาติดๆ รองลงมาก็คือ โปรโมชั่น 15.34% คุณค่าทางโภชนาการ 10.74% และราคา 7.67%

สิ่งที่มีส่วนในการตัดสินใจ” เพื่อสั่งอาหารเดลิเวอรี่ อันดับ 1 คือ โปรโมชั่น 23.31% อันดับ 2 คือ รายการอาหาร 18.71% และมีอันดับรองๆ ลงมา ได้แก่ รสชาติ 15.64% และคุณค่าทางโภชนาการ 12.27%

          เห็นผลสำรวจดังกล่าวแล้ว แน่นอน “ข้อมูล” นี้ต้องมองให้ทะลุ เพื่อที่จะผูกใจ “ลูกค้า” แบบดิ้นไม่หลุดอย่างแน่นอน

          PR สมัยใหม่” ได้ใจลูกค้าจริงหรือ?

          คำถามประเด็นนี้ถามกันมาอย่างต่อเนื่อง และคงจะถามกันต่อๆ ไป เพราะนับตั้งแต่วันนี้ผ่านไป เริ่มต้นวันใหม่ขึ้นมาก็ล้วนแต่มีสิ่งใหม่ๆเข้ามาตลอดเวลา

          แม้ว่าจะจับใจลูกค้าอาหารเดลิเวอรี่มาตลอด โดยสำรวจทั้งพฤติกรรมภาพรวมและกลุ่มย่อยที่เป็นลูกค้าเราจริงๆ แต่ก็ไม่อาจพูดได้ว่าทั้งหมด คือ “ของตาย” สาเหตุที่เห็นเป็นรูปธรรม ชัดแจ้งที่สุดก็คงไม่พ้น “โควิด-19” ที่ทำให้เราได้รู้จักมักคุ้นกับคำว่า “NEW NORMAL”………พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนอีกแล้ว!

          การเจาะใจลูกค้าจากการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มต้นขึ้นใหม่ แล้วมองเลยไปถึงพฤติกรรมหลังจากผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 เรียกว่าผู้ประกอบการหยุดนิ่งไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว

กิจการที่เคยกินแต่บุญเก่าที่ชอบเรียกกันว่า “Good Old Days” อยู่ไม่รอดแน่ๆ โดยเฉพาะตัวแปรที่อยู่เหนือการควบคุมอย่างโควิด-19 ได้มอบประสบการณ์หลากหลายให้กับเราเป็นบทเรียนที่ทำให้เราตื่นตัวตลอดเวลา….เห็นหรือยังว่าหยุดนิ่งไม่ได้

          โดยเฉพาะ “PR” หรือการประชาสัมพันธ์ มันเปลี่ยนไปจากเดิม แม้ว่าจะได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายแล้ว ปักหมุดเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง แสวงหาเนื้อหาหลักๆ มีแผนประกอบการ เผยแพร่โดยกำหนดปฏิทิน PR ที่ชัดเจน และยังมีการประเมินที่เป็นขั้นตอน นี่ยังไม่นับรวมถึงการขวนขวายวิจัย สำรวจตลาด ชนิดที่ “ข้อมูลเพียบ” ก็น่าจะพอแล้วสำหรับการ PR ให้กิจการอยู่ได้อย่างสบายๆ

          แต่ไม่ใช่!

เมื่อโควิด-19 มาเยือน……. แม้จะยังไม่ผ่านไป ก็ทำให้เราต้องมองแบบต่อยอด  ต้อง PR โดยทบทวนว่า “แบรนด์ คือเพื่อนยามยาก” โควิด-19 ต้องให้เว้นระยะห่าง เราก็เว้นระยะห่างโดย “อยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ” ระยะนี้ “ความจริงใจไม่ปรุงแต่ง”เป็นเรื่องสำคัญ……… นี่คือ หลักของการสื่อสารในยุคโควิด-19 อีกส่วนหนึ่ง

          การสื่อสารที่เป็นหัวใจของ PR จะมองแค่หลักของการประชาสัมพันธ์ในภาวะปกติทั่วไปคงไม่พอต้องพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง มีช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัยหลากหลาย  มีโปรโมทการบริการโดยโซเชียลมีเดีย
สร้างแอพในมือถือ ทำงานร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) อาหาร รวมทั้งมีการโฆษณาที่สร้างสรรค์ เรียกว่าสารพัดวิธีการที่เรียนมา รวมทั้งประสบการณ์ที่สร้างการเรียนรู้ให้กับเรา เรียกว่า “ต้องจัดเต็ม”

          ไม่ว่าช่องทางการสื่อสารจะถูกเปิดในโลกโซเชียลอย่างเต็มที่ก็ตาม  แต่ถ้าละเลยการสื่อสารที่ต้องเจาะโอกาสในวิกฤตแล้ว พูดได้คำเดียวว่า “อยู่ยาก” เพราะวิกฤตจะมาหลายๆ รูปแบบ และวิกฤตที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับธุรกิจล้วนเป็นเรื่องเปราะบาง กลยุทธ์ของการสื่อสารจึงต้องถูกงัดออกมาใช้ชนิดที่เรียกว่า “หมดไส้หมดพุง” (แล้วต้องรีบหาเติมแบบทันทีทันควัน)

          พูดง่ายๆ ก็คือ PR ที่จะได้ใจลูกค้าต้องอาศัย “การสื่อสาร” ที่สร้างความเชื่อมั่น เชื่อใจให้กับลูกค้า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม

          เราคงต้องมา PR การขายโดยใช้คำว่า “ได้เวลาซื้อใจไม่ใช่ขายของ” ( Time for Heart sell Not Hard sell ) เพราะโควิด-19 ทำให้เราตกใจและเสียขวัญมากโขอยู่แล้ว

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วรรณรัตน์ โรจนวิเชียร

ประธานหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาิชานิเทศศาสตร์นวัตกรรมและผู้ประกอบการธุรกิจ

ความสุขที่บริโภคได้ – สวนดุสิตเดลิเวรี่

         การสร้างคุณค่าและความอภิรมย์จากอาหารที่ดูดี สะอาดมีระดับแต่สัมผัสได้  สวนดุสิตเดลิเวรี่ไม่ใช่การปฏิวัติและก็ไม่ใช่ผลจากนวัตกรรม แต่มีความสูงส่งของอดีตที่ฉายภาพของความเป็นโรงเรียนการเรือนที่บ่งบอกถึงสถานภาพ บุคลิกภาพ และวิถีชีวิตที่มีความประณีตละเมียดละไม  ศิลปะการประกอบอาหาร จึงเป็นกุญแจสำคัญในการสื่อความหมาย ผนวกกับการสร้างความต่างในธุรกิจอาหารเดลิเวรี่ที่เติบโตและมีการแข่งขันสูงในขณะนี้

         ด้วยความเชี่ยวชาญในการประกอบและตกแต่งอาหารของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต  ที่มีการสร้างมาตรฐานของชีวิตที่เอาใจใส่ความสะอาดและความปลอดภัย สวนดุสิตเดลิเวรี่จึงเป็น DNA สืบทอดมรดกวัฒนธรรมการบริโภคเพื่อความมีระดับ สะท้อนความมีรสนิยม ความสง่างาม ที่ให้ความหมายของความสุขในสังคมยุค New Normal

การประชาสัมพันธ์ สวนดุสิตเดลิเวอรี่

ไพศาล คงสถิตสถาพร

กรรมการสภามหาวิทยาลัยจากผู้แทนพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนันสนุน

         สวนดุสิตเดลิเวอรี่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เกิดจากการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในช่วงสถานการณ์โควิด-19 โดยหน่วยงานที่ให้บริการด้านอาหารต้องปรับกลยุทธ์จากเชิงรับที่เน้นการรอลูกค้ามาใช้บริการ เป็นการให้บริการแบบเชิงรุกที่เข้าหาลูกค้าและสนองความต้องการของลูกค้าในการบริการส่งอาหารถึงหน้าบ้าน โดยการสื่อสารการตลาดและประชาสัมพันธ์ในระยะแรก เริ่มจากการบอกต่อ แบบปากต่อปากของลูกค้า ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ในช่วงที่ลูกค้าต้องพักอยู่กับบ้าน ทำงานที่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ซึ่งช่วงนั้นประชาชนส่วนใหญ่จะเน้นการรับรู้ข่าวสารและปฏิสัมพันธ์กันผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น สวนดุสิตเดลิเวอรี่ จึงเน้นการสื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ อาทิ Facebook และ Line โดยสื่อด้วยภาพที่เน้นถึงคุณภาพ ความสะอาด และความประณีตของอาหารเพื่อสร้างความน่าสนใจ และช่องทางการติดต่อที่สะดวกและรวดเร็ว สามารถให้ข้อมูลลูกค้า แนะนำ และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว