“อาหารเดลิเวอรี่”…ไม่ใช่แค่ “อร่อย”

รสชาติของอาหารว่าอร่อยหรือไม่อร่อย ส่วนใหญ่เป็นที่ความชอบของแต่ละบุคคล เครื่องจิ้มหรือเครื่องปรุงก็มีส่วนช่วยเพิ่มรสชาติของอาหารได้ อาหารบางอย่างรสชาติต้องขึ้นอยู่กับฝีมือของผู้ประกอบอาหารโดยตรง โดยเฉพาะอาหารไทยที่ต้องอาศัยทักษะและเทคนิคของพ่อครัว/แม่ครัวเป็นพิเศษ รสชาติจึงจะออกมาดี คนที่ทำอาหารออกมาได้อร่อยถูกปากของคนส่วนใหญ่ จึงเป็นความสามารถพิเศษที่ต้องหมั่นฝึกฝนและพัฒนาไปตลอดเวลา เพื่อให้ได้ส่วนผสมที่ลงตัวต้องอาศัยใจที่รักในการทำอาหารให้ คนอื่นด้วย ถ้ามีใจให้ซะอย่างทำอะไรก็อร่อยได้

รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
  • ก่อน โควิด – 19 

“ผัดไทย” ต้องที่โรงแรมสวนดุสิตเพลส ของเขา…“อร่อยจริงๆ”

            …การเล่าขานแม้จะผ่านมานานกว่า 20 ปี (เท่า ๆ กับอายุของโรงแรม) แต่ก็ยังเป็น “ตำนานร่วมสมัย” ที่บรรดานักชิมเรียกหา…จนถึง ณ วันนี้

            พอ “โควิด-19” ออกมาอาละวาด  คำว่า “อร่อย” เริ่มแผ่วลง คำว่า ของเขา “สะอาด” ถูกหลักอนามัย เริ่มดังกว่า !

            จึงมีเสียงเรียกร้องต่อ…เมื่ออยู่ในสถานการณ์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” มีส่งถึงบ้านเชียวนะ

            “สวนดุสิตเดลิเวอรี่” 1 ในหลาย ๆ รูปแบบของการบริการอาหารจึงเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม  โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าชนิดที่เรียกว่า “สะอาด สะดวก สบาย ทันอกทันใจ…เลือกได้ทุกอย่างไม่ใช่แค่ผัดไทย”

            จะอยู่บ้าน อยู่ที่ทำงาน…การเรียกขานใช้บริการให้อิ่มท้อง ไม่ต้องฝืนการขอความร่วมมือจากรัฐบาล  อาหารต่างหากที่ต้องวิ่งมาหาเรา

            แต่ก่อนการสั่งอาหารมารับประทานมักจะคำนึงถึง “ความอร่อย” เป็นตัวตั้ง ตามมาด้วย “ความสะดวก รวดเร็ว”

            แต่เมื่อโควิด-19 ระบาด การใช้ชีวิตโดยเฉพาะการกินอยู่เปลี่ยนไปทันทีจนเกิดคำว่า “New normal” เรื่องของ “ความสะอาด” มาแทนคำว่าอร่อยถูกปากทันที

            ทำให้ลูกค้าเริ่มที่จะรุกเข้าไปถึง “ก้นครัว” โดยเฉพาะ “แม่ครัว/พ่อครัว”…ไปจนถึง “เชฟ” ถูกจับตามองเป็นพิเศษ…เพราะเขาคือ “หัวใจ” ของอาหารที่จะกินลงไปในท้อง

            เมื่อเป็นเช่นนี้ผู้เขียนจึงได้รวบรวมเรื่องราวของผู้ที่ประกอบอาหารโดยทั่ว ๆ ไป สรุปได้ว่า “แม่ครัว/พ่อครัว” คือผู้ที่มีหน้าที่ในการทำอาหารในสถานที่ให้บริการทั้งร้านอาหาร โรงแรม รวมทั้งธุรกิจบริการด้านอาหารทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่บริษัท ภัตตาคาร ห้างร้านที่ให้บริการ “อาหารเดลิเวอรี่” พวกนี้เรียกทับศัพท์ว่า “กุ๊ก” ( cook)

ส่วน “เชฟ” หรือ “หัวหน้าแม่ครัว/พ่อครัว” จะทำหน้าที่ทั้งการเตรียมการประกอบอาหาร  โดยเฉพาะคิดสูตรทำอาหาร คิดรายการอาหาร และจัดการในครัว  คำว่า เชฟ (chef) มาจากคำในภาษาฝรั่งเศสว่า “chef de cusine” ซึ่งหมายถึงหัวหน้าในการทำอาหาร

            บางคนก็สรุปว่า ทั้ง “chef” และ “cook” แม้จะเป็นคำนามที่เป็นอาชีพแต่ก็มีลักษณะที่ต่างกัน โดย chef นั้นเป็น “หัวหน้า” ที่ต้องมีความรู้ระดับปริญญาจากสถานศึกษาที่สั่งสอน  การทำอาหารโดยตรง  เพราะต้องบริหารจัดการครัวโดยรวม แต่ cook แค่ทำอาหารเป็นเฉยๆ

            กล่าวโดยสรุป chef = Professional cook ก็คือเป็นกุ๊กมืออาชีพนั่นเอง

            เพื่อฉายภาพให้ชัดขึ้นคงจะต้องพูดถึงมุมมองของลูกค้าเดลิเวอรี่ต่อ “แม่ครัว/พ่อครัว” และ “เชฟ” ที่มองผ่านข้อมูลของ “สวนดุสิตโพล” ซึ่งสำรวจในประเด็น “ผู้ใช้บริการอาหาร  เดลิเวอรี่ต้องการ แม่ครัว/พ่อครัว และเชฟ แบบใด”

            คำตอบจากลูกค้าอาหารเดลิเวอรี่  552   คน  สะท้อนให้เห็นภาพของ “แม่ครัว/พ่อครัว และเชฟ” ที่จะมาปรุงอาหารใน 10 ลักษณะ ต่อไปนี้

            อันดับที่ 1 “ความสะอาด” ทั้งการปรุง การบริหารจัดการถึง 98.69  % รองลงมาอันดับ  ที่ 2 จึงจะมาพูดถึง “ทำอาหารอร่อย”  96.65  % ตามมาติด ๆ อันดับ 3 “ฝีมือดี” 94.88 %  “รู้คุณค่าอาหาร” เป็นอันดับที่ 4  93.39  % และอันดับที่ 5 “มีประสบการณ์” 92.16 %

เห็น Top 5 แล้วก็พอจะมอง New normal เกี่ยวกับการใช้บริการ “อาหารเดลิเวอรี่” ชัดเจนขึ้น

…และถ้าดูอันดับที่ 6 -10 ทั้ง “มืออาชีพ”  90.94  %  “ทำอาหารรวดเร็ว”  87.55 %  “ขยันหาความรู้” 85.46  %  “เรียนมาโดยตรง” 71.60  %  และ “แข่งขันชนะได้รางวัล” 59.28 %  ยังไม่รวมถึง “ความซื่อสัตย์” “เอาอกเอาใจ/เข้าใจลูกค้า” อีก  ล้วนแต่เป็นข้อมูลที่ผู้ประกอบการ  “อาหารเดลิเวอรี่” ไม่ควรมองข้าม

หากจะประกอบการ “อาหารเดลิเวอรี่” ให้ “มั่นคง  มั่งคั่ง  ยั่งยืน” มิใช่จะมีเพียงเงินทุนที่ทุ่มซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า ทั้งอาคารสถานที่ อุปกรณ์ต่างๆ…และไม่เว้นทั้ง  “แม่ครัว/พ่อครัว และเชฟ” บอกได้คำเดียวว่า “ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม”

ถ้ารักจะประกอบการ “อาหารเดลิเวอรี่” (จริงๆ) คงต้องมองผ่านข้อมูลให้ครบทุกมิติ จึงจะไปได้รอดปลอดภัยในกิจการ !

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

นางสาวอัมพวัลณ์ อยู่จุ้ย

ผู้จัดการโรงแรมสวนดุสิต เพลส สำนักกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การบริหารกำลังคนคุณภาพและรักษามาตรฐานการผลิตและบริการ

          การบริหารกำลังคนคุณภาพและรักษามาตรฐานการผลิตและบริการ เป็นเครื่องมือที่โรงแรมสวนดุสิต เพลส สำนักกิจการพิเศษ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตนำมาใช้ เพื่อสร้างคนคุณภาพจากภายในองค์กร วิธีง่ายๆที่ ทำอยู่ตลอด คือ การสับเปลี่ยนหมุนเวียนงาน การทำงานแทนกัน การสอนงาน และการเรียนรู้ผ่านการฝึกอบรมจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง ซึ่งเป็นการพัฒนาและสั่งสมประสบการณ์อย่างมีระบบ (มีการคัดเลือกพนักงานคุณภาพเป็นต้นแบบ เพื่อถ่ายทอดด้วยมาตรฐานเดียวกัน) และเมื่อยามมีวิกฤตโควิค-19 เข้ามา การรักษามาตรฐานการผลิตและบริการจึงไม่ได้รับผลกระทบ ประเมินจากพนักงานทุกคนสามารถปฏิบัติงานแทนกันได้อย่างมีคุณภาพและไม่เกิดข้อร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ

นางสาวอรทัย ศรีโคตร

เทคนิคและเคล็คลับวิธีทำผัดไทยให้อร่อย

วิธีการทำผัดไทย

         1.ตั้งกะทะ ใส่น้ำมันพืช หอมแขก กุ้งแห้ง เต้าหู้ ผัดให้เข้ากันจนหอม

         2.ใส่ไข่ ผัดจนสุก

         3.ใส่เส้นที่ลวก กุ้งสด น้ำซอสผัดไทย ผัดให้เข้ากัน

         4.ใส่ถั่วงอก ใบกุ่ยช่ายเขียว

         5.ตักใส่จาน เสิร์ฟพร้อมผักเคียง

เคล็ดลับการทำ

          การผัด หากใช้เส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นสดทั้งเส้นเล็กและเส้นจันท์ ให้ลวกเส้นสุกปานกลาง ผัดให้เส้นนิ่มก่อน แล้วจึงค่อยใส่เครื่องปรุงรสหรือน้ำซอสผัดไทย หากใส่ไปขณะที่เส้นยังแข็งอยู่ เครื่องปรุงจะไปรัดเส้น ทำให้เส้นแข็งกระด้าง

          เคล็ดลับการทำผัดไทยให้เร็ว ควรเคี่ยวน้ำซอสผัดไทยไว้ก่อน เอาไว้ใส่ตอนผัดกับเส้น จากนั้นจึงนำมาผัดรวมกับเต้าหู้ หัวไชโป๊ กุ้งแห้ง กุ้ง ไข่ และถั่วงอกทีหลัง ก็จะได้ผัดไทยร้อนๆ พร้อมเสิร์ฟ และรสชาติก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนไปจากเดิมอีกด้วย