“ใคร?อยากเรียน ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ (ยกมือขึ้น)”

การจัดการศึกษาด้านอาหารนั้นมีหลายรูปแบบ สามารถจัดการศึกษาได้ทั้งส่วนที่เป็นวิทยาศาสตร์ (Culinology Sciences) หรือศิลปศาสตร์ (Culinology Arts) และคหกรรมศาสตร์ (Home Economics) สำหรับ สวนดุสิตนั้นไม่ว่าจะป็นหลักสูตรทางสายไหนก็จะเน้นการทำอาหารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ผู้เรียนจะต้องมีความสามารถในการประกอบอาหารได้อย่างหลากหลาย ทักษะทางด้านนี้ถือว่าสำคัญสำหรับผู้ที่จะไปประกอบการด้านอาหารเป็นวิชาชีพ ถ้าไม่รู้จักวัตถุดิบและทำไม่เป็น การเรียนรู้ไปก็ไม่เกิดประโยชน์เท่าที่ควร โดยเฉพาะในปัจจุบันนี้การผลิตอาหารมีลักษณะเป็น Mass มากขึ้น มีการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งการกำกับ ควบคุม การผลิตอาหารให้ได้คุณภาพ เมื่อเป็นผู้ผลิตอาหารอาชีพ ช่องทางการจัดจำหน่ายก็เป็นอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ธุรกิจอาหารสามารถอยู่รอดได้

รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

          อาหารเดลิเวอรี่ นับว่าเป็นธุรกิจที่สำคัญโดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่จะเห็นได้ว่าได้รับความนิยมอย่างมาก ภายใต้สถานการณ์ที่ประชาชนต้องทำงานอยู่บ้าน (Work From Home) อาหารเดลิเวอรี่นั้นแตกต่างจากอาหารทั่วไปหรือไม่ การขนส่งจากที่หนึ่งสู่อีกที่หนึ่งอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ยังคงคุณภาพที่ดีอยู่ที่นี่มีคำตอบ

          ความโดดเด่นหนึ่งที่สำคัญของสวนดุสิต คือ จุดเริ่มต้นการเป็นโรงเรียนการเรือนแห่งแรกของประเทศไทย ชื่อ“โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน” ซึ่งจากความเข้มแข็งในอดีตต่อยอดเป็นความมั่นคงในปัจจุบันภายใต้แนวคิดการเป็นสถาบันเฉพาะทาง ที่เน้นระดับปริญญาตรีที่มุ่งเน้นการพัฒนาความเป็นอัตลักษณ์ทั้ง 4 ด้าน โดย 1 ใน 4 ด้านที่มีความเกี่ยวข้องกับอาหาร คือ  อุตสาหกรรมอาหาร จากความเชี่ยวชาญดังกล่าว และเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาหลักสูตร การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ควบคู่การปฏิบัติ และรู้จริงในสิ่งที่ทำ หากมองในมิติของ  ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรที่ให้เลือกเรียนหลากหลายสาขาวิชา ทั้งสาขาวิชาการกำหนดและการประกอบอาหาร สาขาวิชาเทคโนโลยีการประกอบอาหารและการบริการ สาขาวิชาเทคโนโลยีอาหาร สาขาวิชาอุตสาหกรรมการประกอบอาหาร สาขาวิชาโภชนาการและการประกอบอาหารเพื่อการเสริมสร้างสมรรถภาพและการชะลอวัย ในทุกสาขาวิชาล้วนมีความน่าสนใจที่เมื่อเรียนแล้วสามารถช่วยสนับสนุนการพัฒนาอาหารและการบริการที่ตอบสนองต่อการทำธุรกิจเดลิเวอรี่ได้อย่างแน่นอน

          แล้วถ้ามองว่าวิชาอะไร?? ที่จะช่วยสอนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องซึ่งมีมาากมาย เช่น รายวิชาการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร (Entrepreneurship in Food Business) จะได้เรียนเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจอาหารที่ดี จัดทำแผนธุรกิจ รูปแบบธุรกิจอาหาร การดำเนินการธุรกิจให้มีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ บทบาทหน้าที่ของธุรกิจต่อสังคมและชุมชนภาษีธุรกิจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องรายวิชาการจัดบริการร้านอาหารร่วมสมัย (Contemporary Restaurant Service)   เรียนรู้เกี่ยวกับประเภทของร้านอาหาร กฎและข้อบังคับของการเปิดร้านประเภทต่างๆ การวางแผนงบประมาณ การวางแผนเมนู การจัดการอุปกรณ์ เครื่องมือและการจัดซื้อของร้านอาหาร การประกอบอาหารและการจัดการบริการตามประเภทของร้านอาหาร ได้แก่ การบริการอาหารภายในร้าน และการจัดส่งนอกสถานที่ รวมทั้งการจัดเลี้ยงทั้งใน และนอกสถานที่ จรรยาบรรณ และมารยาทของพนักงานบริการอาหาร

นอกเหนือจากรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับการประกอบอาหารแล้ว สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาธุรกิจ อาทิ รายวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศยุคดิจิทัลในธุรกิจบริการอาหาร (Digital Technology in Food Service Business) ที่มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อธุรกิจอาหาร การประยุกต์ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการตลาด และการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในการดำเนินงานต่างๆ ในธุรกิจบริการอาหาร รายวิชาเครือข่ายทางสังคมออนไลน์และการตลาดดิจิทัล (Online Social Network and Digital Marketing) และ รายวิชาสื่อและเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับงานโภชนาการ (Media and Online Social Network for Nutrition) การศึกษาองค์ประกอบของเครือข่ายทางสังคมออนไลน์และการตลาดดิจิทัล เครื่องมือสำหรับเครือข่ายทางสังคม บทบาทของการตลาดดิจิทัลที่มีต่อธุรกิจ การพัฒนารูปแบบการตลาดดิจิทัล การสื่อสารตราสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการตลาดดิจิทัลบนเครือข่ายทางสังคม ความสำคัญและบทบาทสื่อและเครือข่ายสังคมออนไลน์ในงานโภชนาการ การค้นคว้าข้อมูลในแหล่งที่เชื่อถือได้ การออกแบบเนื้อหาสาระและสื่อในงานโภชนาการ การประยุกต์ใช้สื่อและเครือข่ายสังคมออนไลน์ในงานโภชนาการ การฝึกปฏิบัติผลิตสื่อสำหรับงานโภชนาการ

ความครบวงจรที่เกิดขึ้นตามที่หลักสูตรแต่ละหลักสูตรได้วางแผนพัฒนาผู้เรียน โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นการประกอบอาหารที่เน้นถึงการผลิตอาหารที่ถูกสุขอนามัย เทคนิคการประกอบอาหารและการควบคุมคุณภาพอาหาร  การอธิบายอาหารแต่ละประเภทได้ตามหลักโภชนาการอย่างถูกวิธีเพื่อทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในอาหารที่ผลิตขึ้น รวมถึงการการจัดส่งนอกสถานที่ จรรยาบรรณ และมารยาทของพนักงานบริการอาหารก็เป็นรายละเอียดที่สำคัญที่จะเรียนรู้คู่การปฏิบัติจริง  เมื่อสู่กระบวนการทางการตลาดนั้น การตลาดดิจิทัล ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่จะต้องวางแผนดำเนินการเพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่กำหนด รวมถึงการจะทำอย่างไรที่จะครองฐานลูกค้าไว้ให้ได้

จากสิ่งที่ได้กล่าวภายใต้บทความ  “ใคร?อยากเรียน ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ (ยกมือชึ้น)” มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาและเรียนรู้ไปพร้อมกัน หากท่านยกมือขึ้น เราพร้อมจะจับมือท่านไปสู่ความสำเร็จของธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ได้อย่างแน่นอน

ผศ.ดร. จิตต์วิมล คล้ายสุบรรณ
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุภวรรณ อภิชาติไตรสรณ์

ประธานหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต สาขาวิชาการตลาด คณะวิทยาการจัดการ

การตลาดกับธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่

         มื้อนี้กินอะไรดี… คำถามนี้เชื่อว่าหลายท่านคงเคยเกิดขึ้นกับตัวเอง จากวิกฤตโควิด-19 และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่ความปกติใหม่ (New Normal) อาหารเดลิเวอรี่จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้บริโภค หลายธุรกิจต่างปรับกลยุทธ์สู่การเป็น “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่” (Food Delivery) การปรับตัวให้สามารถอยู่รอดภายใต้วิกฤตและการแข่งขันที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลยุทธ์การตลาด จึงเป็นเรื่องสำคัญ เครื่องมือการตลาดที่คุ้นเคยจาก 4Ps สู่ 4Cs การมองที่ตนเองเป็นหลักเปลี่ยนมาให้ความสำคัญกับ ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric) เริ่มจากการฟังและทำความเข้าใจลูกค้า (Consumer Insight) พบว่าปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้ออาหาร คือ คุณค่าและความปลอดภัย ดังนั้นอาหารที่รสชาติดี สะอาด มีเรื่องเล่าที่เน้นกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ ลูกค้าต้องการความคุ้มค่าคุ้มราคา (Value for Money) ไม่ใช่แค่ราคาถูก แต่คือคุ้มค่าเมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่จ่ายไป ลูกค้าต้องการความสะดวก (Convenience) ในการสั่งซื้อ จัดส่ง และการชำระเงินที่ง่ายไม่ซับซ้อน  และการสื่อสารการตลาด (Communication) ที่สื่อสารและส่งเสริมเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของลูกค้าให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตแบบ New Normal …ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ต้องมองหาโอกาสไปพร้อม ๆ กับการปรับตัว……เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

อาจารย์ปัญจมา ประภาพันธ์ศักดิ์

หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมการประกอบอาหาร

         ในปัจจุบันรูปแบบการดำรงชีวิตแบบ  New Normal มีความต้องการใช้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ผ่านธุรกิจอาหาร Food Delivery   โดยฐานข้อมูลของไทยรัฐออนไลน์ได้กล่าวถึงการประเมินค่าของธุรกิจเดลิเวอรี่ว่ามีมูลค่าสูงถึง 35,000 ล้านบาท  และมีแนวโน้มที่จะเติบโตเพิ่มขึ้น ซึ่งบุคลากรที่เป็นกลไกสำคัญของธุรกิจดังกล่าว คือ เชฟ (Chef) ซึ่งเป็นผู้ถ่ายทอดภาพลักษณ์ผ่านอาหาร เพื่อให้ลูกค้าได้รับความประทับใจจากการใช้บริการในรูปแบบอาหารเดลิเวอรี่   นอกจากความประทับใจที่เชฟสร้างให้กับลูกค้าผ่านผลิตภัณฑ์​อาหารแล้ว เชฟยังต้องนำความรู้มารังสรรค์อาหารใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความดึงดูดใจอย่างต่อเนื่องให้กับลูกค้า​  รวมทั้งต้องรักษามาตรฐานของอาหาร ความสะอาดและความปลอดภัยอีกด้วย

         “โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นสถาบันการศึกษาเฉพาะทางที่ผลิตเชฟในระดับแนวหน้าของประเทศไทยและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ”