เรียนรู้ออนไลน์ : กรณี “ข้าวแช่สวนดุสิต”

ข้าวแช่สวนดุสิตเป็นเมนูยอดนิยมเมนูหนึ่งที่ทำออกจำหน่ายในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี ส่วนใหญ่เป็นบุคคลภายนอก แต่ภายในมหาวิทยาลัยกลับไม่ค่อยเป็นที่นิยม อาจจะเป็นเพราะว่าวัยของคนปัจจุบันที่ไม่ค่อยชอบการกินอาหารที่มีวิธีกินค่อนข้างจะมากเรื่องไปบ้าง ข้าวแช่สวนดุสิตจึงขายผ่านช่องทางออนไลน์มากกว่าช่องทางจัดจำหน่ายแบบอื่น ๆ ข้าวแช่

สวนดุสิตมีลักษณะเป็นข้าวแช่ตามต้นฉบับของชาวมอญ เป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านอาหารแบบนหนึ่ง

รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

         ประเทศไทยเป็น “เมืองร้อน”  ต้องดับร้อนด้วย “ข้าวแช่”

         เมื่อร้อนทั้งปี! ก็ต้องกินข้าวแช่ทั้งปีใช่มั้ย!?!

         คำกล่าวที่ว่า “กินอาหารเป็นยา” ไม่ได้หมายถึงแค่การใช้อาหารเพื่อรักษาโรค แต่ยังหมายรวมการกินอาหารที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ โดยเฉพาะอากาศในฤดูร้อนที่ร้อนอบอ้าวมีอุณหภูมิสูง อาหารที่รับประทานควรเพิ่มความเย็นให้แก่ร่างกาย “อาหารคลายร้อน” ต้องมีคุณสมบัติที่ย่อยง่าย ใช้พลังงานย่อยไม่มาก รวมทั้งมีคุณสมบัติเย็นโดยมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และให้พลังงานต่ำ

         “ข้าวแช่” จึงเป็นคำตอบที่ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุด!

         ข้าวแช่ หรือที่ผู้คนนิยมเรียกกันว่า ข้าวแช่ชาววัง มีต้นกำเนิดมาจากชาวมอญ และคนไทยเชื้อสายมอญนำมาทำตำรับพิเศษที่เรียกว่า “เปิงด้าจ์ก” หรือ “ข้าวแช่” นำมาประกอบพิธีในวันสงกรานต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง ส่วนข้าวแช่ชาววังนั้น ได้เริ่มเข้าสู่ตำรับชาววังตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสตรีสูงศักดิ์เชื้อสายมอญได้นำขึ้นถวายแก่พระมหากษัตริย์ไทย ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ให้ข้าราชบริพารในวังสอนคนในท้องถิ่นจังหวัดเพชรบุรีทำข้าวแช่ ในครั้งเสด็จเยือนพระนครคีรี จังหวัดเพชรบุรี จึงเกิดการผสมผสานสูตรอาหารตำรับพิเศษชาววังมาเป็นข้าวแช่เมืองเพชรบุรี และในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการเผยแพร่และนำข้าวแช่ออกสู่สาธารณะชน ทำให้ได้รับความนิยมจนมาถึงปัจจุบัน และมีหลากหลายสูตรที่ได้รับความนิยม

         “ข้าวแช่สวนดุสิต” เป็นอีกสูตรหนึ่งซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์ความเป็นสวนดุสิตที่มีรากฐานมาจากโรงเรียนการเรือนที่ได้สั่งสมมาอย่างยาวนานและสืบต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น ความโดดเด่นของข้าวแช่สวนดุสิตที่มาจาก “วัตถุดิบ วิธีทำ วิธีกิน” ตั้งแต่การนำข้าวสารเก่ามาหุง ขัดจนใส แล้วนำข้าวไปนึ่ง จนถึงการรับประทานกับน้ำลอยดอกไม้สดที่อบควันเทียน พร้อมทั้งเครื่องแนม ลูกกะปิทอดปั้นเป็นลูกกลมพอดีคำ หอมทอด ปลายี่สนหวาน ไช้โป๊วผัดหวาน พริกหยวกสอดไส้
หมูฝอย ส่วนการรับประทานข้าวแช่ให้ได้อรรถรสที่สุด จะต้องค่อย ๆ รับประทานทีละคำ รับประทานเครื่องแนมก่อนแล้วค่อยรับประทานข้าวแช่ เพื่อให้รู้รสชาติและความหอมเย็นของข้าว

         สิ่งสำคัญที่สุด คือ การไม่ตักเครื่องแนมใส่ในชามข้าวแช่ เพราะจะกลบกลิ่นหอมของดอกไม้และควันเทียน ข้าวแช่ตำรับสวนดุสิตได้รับความนิยมมาก และจะทำขายในช่วงฤดูร้อนเท่านั้น (แต่บางครั้งอากาศร้อนแม้ไม่ใช่ฤดูร้อนก็ต้องทำ)  จากการทำเพื่อรับประทานในโรงแรมสวนดุสิตเพลสและครัวสวนดุสิต สู่การจัดเป็นชุดเพื่อบริการให้บุคคลภายนอกนำไปรับประทานที่บ้านเพื่อเป็นของฝาก และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันในยุคโควิด-19 การที่จะนั่งรับประทานในโรงแรมหรือร้านอาหารนั้นคงเป็นเรื่องยาก มหาวิทยาลัยสวนดุสิตจึงได้เพิ่มทางเลือกคือ “สวนดุสิตเดลิเวอรี่” เป็นบริการที่พนักงานมหาวิทยาลัยสวนดุสิตเป็นผู้ผลิตอาหารและเป็นผู้จัดส่ง จากครัวส่งตรงถึงผู้บริโภคด้วยคนสวนดุสิต

         “ข้าวแช่…เมนูยอดฮิตในฤดูร้อน” “ข้าวแช่…อาหารดับร้อนทำให้ร่างกายสดชื่น” “ข้าวแช่…อีกหนึ่งอาหารที่สร้างรายได้” หรือแม้แต่ “ข้าวแช่สวนดุสิต…ที่ให้บริการแบบครบวงจร” ล้วนเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่าสำหรับสังคมไทย ณ วันนี้ “ข้าวแช่เป็นได้มากกว่าอาหาร” อย่างแน่นอน แต่ถ้าจะทำให้ข้าวแช่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในเวทีโลก ก็คงต้องอาศัยการประชาสัมพันธ์บนฐานของการใช้องค์ความรู้โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่จะผลักดันให้ข้าวแช่เป็นที่รู้จักในระดับสากล

         จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ “มหาวิทยาลัยสวนดุสิต” ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มีภาระกิจหลักด้านการบริการทางวิชาการ เริ่มต้นจากสิ่งที่ทำจนเชี่ยวชาญ สู่การบริการชุมชน องค์ความรู้ที่ได้รับการถ่ายทอด จึงได้จัดทำแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับข้าวแช่ ตำรับอาหารสืบสานวัฒนธรรม ซึ่งในแหล่งเรียนรู้จะประกอบไปด้วย เสน่ห์ศาสตร์ตำรับข้าวแช่ผ่านสื่อความรู้ออนไลน์ กฤตภาค หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-Book) และการเรียนทำอาหาร (โดยเฉพาะข้าวแช่)รวบรวมไว้สำหรับผู้สนใจ และหากต้องการสั่งซื้อข้าวแช่ ยังมีบริการสั่งซื้อออนไลน์ในช่วงโควิด-19 เสิร์ฟพร้อมเครื่องแนมที่จัดเตรียมไว้อย่างพิถีพิถัน ตามแบบฉบับอันเป็นอัตลักษณ์ของสวนดุสิต

         ซึ่งสามารถรับชมองค์ความรู้ “ข้าวแช่” ได้ที่  https://khao-chae.dusit.ac.th  (นี่แหละ! คือ “ข้าวแช่ร่วมสมัย”)

         รับรองว่าถ้าได้เข้าชมแล้ว…จะได้ความรู้จนอิ่ม และลุ่มลึกเรื่อง “ข้าวแช่” แบบเต็มเต็ม…แน่นอน!!

         ไม่ยากเลยกับการเรียนรู้ออนไลน์  ที่จะทำให้ทุกท่านที่เข้าชมสามารถเข้าใจ “ข้าวแช่” ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

         หากสามารถนำศาสตร์ความรู้เรื่องอาหารมาผสมผสานกับการตลาดออนไลน์ด้วยแล้ว ก็จะสามารถยึดเป็น “อาชีพ” ที่สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ…โดยเฉพาะในยุคโควิด-19 ที่ทุกคนห่วงใยสุขภาพ  และจากการที่ “ข้าวแช่”  
เป็นอาหารคลายร้อน ซึ่งเมืองไทยถูกล้อเลียนอยู่ตลอดว่า มีแต่ “ฤดูร้อนมากที่สุด” “ฤดูร้อนมาก” และ “ฤดูร้อนปกติ” จึงทำให้  “ข้าวแช่” ถูกจริตคนไทยเพราะสภาพอากาศที่เป็นใจ!

          “ข้าวแช่” จึงเป็นอีกเมนูหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามได้  และยิ่งมีสื่อออนไลน์เข้ามาช่วย  ก็จะทำให้ผู้สนใจมองข้ามความยุ่งยาก  ทั้งจากการปรุงและการจัดจำหน่าย  ที่ชี้ช่องทางการสร้างรายได้แบบครบวงจรอย่างไม่ยากเย็น     

ผศ.ทิพสุดา คิดเลิศ
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

อาจารย์พงศ์อนันต์ ศิริแสงไพรวัลย์

โรงเรียนการเรือน

         อัตลักษณ์และความเชี่ยวชาญทางด้านอาหาร ยั่งยืนมากกว่า 86 ปี ภายใต้ชื่อ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นและเป็นที่ประจักษ์ คือ สำรับข้าวแช่สวนดุสิต เนื่องมาจากการสืบสานภูมิปัญญาสำรับแห่งวัฒนธรรมของสวนดุสิตมาอย่างยาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น ใส่ใจในการคัดเลือกวัตถุดิบ รู้ลึกถึงอรรถรสของอาหาร กระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน ซึ่งในปัจจุบันผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสำรับข้าวแช่ของสวนดุสิต ได้หลากหลายช่องทางในการเลือกบริโภค

         “ คิมหันตฤดู หรือ ฤดูร้อนคราใด ถ้าได้มาสัมผัสกับข้าวแช่สำรับสวนดุสิตที่จะพาคุณผ่อนคลายและเย็นฉ่ำชื่นใจ ด้วยรสสัมผัสที่นุ่มละมุนของเม็ดข้าวพร้อมความหอมของหมู่มวลดอกไม้ที่ส่งกลิ่นแสนรัญจวนในน้ำลอยดอกไม้สด จัดเสิร์ฟพร้อมเครื่องเคียงอันปรานีตทำให้ให้คุณมิรู้ลืม กับข้าวแช่สำรับสวนดุสิตสักครั้ง   แล้วคุณจะ  ติดใจ”

         “ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้นำด้านอาหาร ”

นางดวงดาว พรมรักษ์

แม่ครัว ครัวสวนดุสิต

         ช่วงโควิดเป็นคนหนึ่งที่ได้หยุดพัก WFH รู้สึกเครียด มีแต่เรื่องกินกับกินกับนอนทำให้น้ำหนักมากอยู่แล้วมากขึ้นไปอีก เพราะไม่ได้ออกกำลังกายและไม่ได้ไปไหนมาไหนเลย ต้องอยู่แต่ในบ้าน พอได้มีโอกาสที่ครัวสวนดุสิตโทรศัพท์มาให้ไปทำงานได้เพราะเริ่มทำเดลิเวอรี รู้สึกดีใจมาก ได้ช่วยกันกับน้องโกโก้เป็นคนทอดลูกกะปิ หุงข้าว ขัดข้าวเตรียมไว้ ข้าวแช่ซึ่งเป็นเมนูที่ขายดีมากในเดือนเมษายน ตอนเช้า ช่วยกันยัดลูกหัวหอม ทำโสร่งสำหรับม้วนพริกหยวกยัดไส้ เตรียมของจัด ใส่กล่อง การจัด มีการช่วยกันหลายคน มีอาจารย์คหกรรมศาสตร์ และน้องแซนดี้ช่วยแกะสลักมะม่วง เพราะไม่ทันจริงๆ ช่วงนั้นแม่ครัวถึงกับนิ้วล็อค กับข้าวแช่สวนดุสิต รู้สึกดี ชอบอยากให้มีออเดอร์สั่งเข้ามาเยอะๆ ยังนึกเลยว่าน่าจะร้อนต่อจะได้ขายได้ อยากขายต่อไปเรื่อยๆ