การส่ง “อาหารเดลิเวอรี่” ไม่ใช่แค่…มอเตอร์ไซด์รับจ้าง!!

ประสิทธิภาพของการจัดส่งอาหารให้ถึงมือลูกค้าโดยยังคงสภาพที่สมบูรณ์ย่อมเป็นความพึงพอใจของลูกค้า เพราะถ้าเปรียบเทียบค่าบริการจัดส่งอาหารต่อหน่วยจะแพงกว่าค่าจัดส่งพัสดุอย่างอื่น ๆ เมื่อเทียบต่อหน่วยของสินค้า โดยเฉพาะถ้าลูกค้าสั่งน้อยชิ้น การจัดส่งที่รวดเร็วตามเวลา การบรรจุสินค้าที่ประณีต และภาพรวมของการจัดส่ง มีผลต่อ การจัดจำหน่ายอาหารเดลิเวอรี่ทั้งสิ้น ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นอาหาร เดลิเวอรี่ ถ้ากระบวนการจัดส่งไม่ดี ขาดประสิทธิภาพ อาหารจะขายได้อย่างไร

รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต

            “รอไม่ได้  ช้าไม่เป็น” จริตของคนไทยในยุคหัวร้อน ที่สะท้อนไม่ใช่เพียงแค่ข่าวรายวันดูจะกำลังหยั่งรากลงในวิถีชีวิตของคนเมืองใหญ่ ๆ หลายเมือง  ไม่ใช่แค่คนกรุงเทพเท่านั้น

            เมื่อมาผนวกกับ “ความสะดวก สบาย และได้ดั่งใจ” จึงทำให้ธุรกิจต่าง ๆ  เล็งหาช่องทางจากวิถีชีวิตตรงนี้

            ยิ่งมาเจอภาวะที่ต้องผจญกับ “อากาศร้อน รถติด โควิด-19” ทำให้มนุษย์ในเมืองใหญ่ ๆ  ไม่อยากจะย่างกรายไปไหนเลย และต้องพบเจอมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”  เข้าไปอีกก็จบเห่ ในวิถีชีวิตที่สามารถไปไกลได้ทุกหย่อมหญ้า

            “อาหาร”  1 ในปัจจัย 4 ที่จะต่อลมหายใจของชีวิต เป็นสิ่งที่ทำให้คนต้องขวนขวายเพื่อตอบสนองตนเองและครอบครัว  “ธุรกิจด้านอาหาร” จึงกระโดดเข้ามาแบบถูกจังหวะ ถูกเวลาพอดี โดยเฉพาะ “อาหารเดลิเวอรี่” 

            ทำให้ อาหารเดลิเวอรี่ไม่ใช่แค่ทำอาหารแล้วก็ส่งให้ลูกค้าตามที่สั่ง  โดยอาศัยแค่มอเตอร์ไซด์รับจ้างปากซอยเท่านั้นก็เพียงพอ

            แต่ “โลจิสติกส์สำหรับอาหารเดลิเวอรี่” (Food Delivery Logistics)  ก็ปรากฏตัวแบบเป็นรูปธรรม
ที่ชัดเจนทันที

            ผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่สะท้อนความเห็นของผู้ใช้บริการอาหาร
เดลิเวอรี่ 1,043 คน เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมาพบว่า เคยสั่งอาหารเดลิเวอรี่ จาก Grab Food 27.05% สั่งโดยตรงกับทางร้าน (เช่น IG FB Web) 26.04%  LINEMAN  20.96%  Food Panda 15.29% Get Food 10.12% ส่วนมอเตอร์ไซด์รับจ้างทั่วไปเพียง 0.08% เท่านั้น

            ประเด็นนี้สอดคล้องกับ “ความต้องการที่แท้จริง” ที่ไม่ใช่ต้องการเพียงแค่อาหารที่จะได้รับ เพราะลูกค้าต้องการพนักงานส่งอาหารที่มีความสะอาดทั้งตนเองและกระบวนการในการจัดส่ง 94.83% จะต้องส่งตรงเวลา 92.11%  รวมทั้งค่าจัดส่งต้องเป็นธรรม 90%

            เมื่อต้องใช้บริการอาหารเดลิเวอรี่เป็นเวลานาน ๆ จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล และต้องใช้ถี่ ๆ เพราะต้องกินทุกวัน  จึงทำให้ “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่” รีบพลิกตำรา “ 4 C” มาตอบสนองลูกค้าแบบทันที ทันใด และทันใจเต็ม ๆ

            *Convenience ทำอย่างไร?  ให้ลูกค้าเกิดความสะดวกมากที่สุด

            *Connection  ทำอย่างไร? จะต้องมีเครือข่ายที่ดีและครอบคลุมร้านอาหาร และธุรกิจเกี่ยวกับ
การขนส่งให้มากที่สุดและดีที่สุด

            * Communication ทำอย่างไร? จึงจะสื่อสารถึงลูกค้าได้ดีที่สุด

            * Competitive differentiation   ทำอย่างไร? จึงจะสร้างความแตกต่างในการแข่งขันให้ Brand ที่โดดเด่นมัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด  ไม่ว่าส่งเร็วกว่า หรืออาหารที่ถูกปากถูกใจมากที่สุด

            แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ  หากเผลอหลุด  ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการติดต่อที่ยุ่งยาก เมนูอาหารพื้น ๆ บริการจัดส่งที่ต้องรอจนหายอยาก ยังไม่รวมถึง “อาหารไม่ตรงปก” ไม่มีโปรโมชั่นเลย เคยสั่งครั้งแรก ถึงครั้งที่ร้อยก็ยังคงเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้จะสร้างความเบื่อหน่ายให้กับลูกค้าที่พร้อมจะเปลี่ยนการเรียกใช้บริการทันที ยิ่งมีคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด

            “การทำเหมือนเดิม ก็คือการเดินถอยหลัง” ยังคงเป็นคำที่ใช้ได้ตลอดกาล  โดยเฉพาะยุคนี้สมัยนี้  ถ้าไม่เชื่อลองไปดู  “5 ธุรกิจเดลิเวอรี่ที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย” 

            Seekster   แอปพลิเคชันที่ช่วยเรียกแม่บ้านมาทำความสะอาด บวกกับบริการช่างแอร์ ช่างประปา จนถึงกำจัดปลวก

            Food Panda บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ที่มีร้านอาหารในเครือข่ายมากกว่า 1,000 ร้านให้เลือก

            Lalamove บริการรับส่งของด่วน โดยเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน 

            LINEMAN   เน้นบริการที่ครอบคลุม โดยเฉพาะร้านอาหารกว่า 40,000 ร้าน ส่งตรงถึงบ้านแบบทันอกทันใจ

            honestbee ที่ช่วยในการเลือกสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และนำมาส่งที่บ้าน ไม่ว่าจากร้านอาหารหรือแม้แต่ซูเปอร์มาร์เก็ต

            ที่ยกมาแม้เป็นเพียงบางส่วนของธุรกิจที่ไม่มีการหยุดนิ่ง จึงอยากจะกระตุ้นให้ท่านผู้อ่านได้คิดว่า แม้เคยมีผลสำรวจที่ว่า “คนกรุงส่วนใหญ่ถึง 79% เคยใช้บริการวินมอเตอร์ไซด์ในการเดินทาง” 

          แต่ก็อย่าด่วนสรุปว่า “การจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่”…มีเพียงมอเตอร์ไซด์รับจ้างเท่านั้น!!

รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ดร.วิทยา ศิริพันธ์วัฒนา

           Food Delivery เป็นที่นิยมด้วยแรงหนุนของ Mega Trend คือ ความเป็นเมือง และ เทคโนโลยี Food Delivery ขยายตัวอย่างมากในช่วงวิกฤต COVID-19 ผ่านช่องทาง โทรศัพท์ LINE และ บริการแอปพลิเคชันส่งอาหารกันมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวของ i-banking และ e-wallet ทำให้การสั่งซื้อและโอนเงินสะดวกรวดเร็วขึ้นทวีคูณ อีกทั้งการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ที่สะดวก รวดเร็ว และง่ายดายจากอุปกรณ์มือถือ และ Work From HOME ที่เกื้อหนุนทำให้ Food Delivery ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจนมูลค่าตลาด Food Delivery อาจมากถึง 60,000 ล้านบาทในนี้ อาหารไทย อาหารอีสาน ฟาสต์ฟู๊ด ชานมไข่มุก ขนมหวานและเบเกอรี่คือ 5 หมวดอาหารยอดนิยม ปัจจัยที่เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันคือ การเข้าถึงลูกค้า โปรโมชั่นโดนใจ คุณภาพความสะอาดของอาหาร และบริการที่รวดเร็ว สวนดุสิตโฮมเบเกอรีมีพัฒนาช่องทางการเข้าถึงลูกค้าตาม platform ต่างๆ และเพิ่มช่องทางการจัดส่ง เช่น การส่งตรง การส่งผ่าน GRAB, LINE, lalamove , food panda, GET และผ่านร้านสะดวกซื้อ7-11 อีกทั้งยังบริการส่งทั่วราชอาณาจักรผ่าน Kerry Express, DHL, ไปรษณีย์ไทย และเครือข่ายรถขนส่ง ต่างออกแบบกระบวนการและรูปแบบ logistics ที่คำนึงถึง ‘ประสิทธิภาพ’ และ ‘คุณภาพ’ เป็นสำคัญตามประเภทอาหารแห้ง และอาหารสด ด้วยครับ ….

นาย วิษณุ คำสนิท

ทีมสายส่ง Rider 5 ส กับ Delivery

           1. ใส่ใจ : ในการขนส่งทีม Rider มุ่งเน้นกระบวนการการกระจายสินค้าให้มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้รับสินค้าตรงเวลา

           2. สื่อสาร : ก่อนถึงบ้านลูกค้า ขออนุญาตคอนเฟริมรายการอาหารที่สั่ง………. และ สถานที่จัดส่ง…….

           3. สะอาด : ทีม Rider จะต้องผ่านการคัดกรองตรวจสุขอนามัย ใส่เสื้อที่สวนดุสิตซักและฆ่าเชื้อทุกวัน เตรียมถุงมืออนามัย เพื่อหยิบอาหาร สเปรย์ แอลกอฮอล์พกพาสำหรับฉีดมือก่อนหยิบจับอาหารทุกครั้ง

           4. ส่งมอบ : มีการเก็บข้อมูลที่ผ่านมาในทุก ๆ ครั้ง เช่นในเรื่องของเส้นทางหรือสภาพอากาศและ เวลา ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรสำคัญเพื่อมาวิเคราะห์และประมวลผล ทำให้สามารถพยากรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ และมีข้อมูลในการตัดสินใจและวางแผนที่ดีขึ้น จึงเกิดการเรียนรู้ใหม่ ๆ จนทำให้เราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อการบริหารจัดการ  Delivery ได้ดียิ่งขึ้น

           5. การป้องกันเสี่ยง : ทีม Rider จัดให้มีช่องทาง Fast delivery  เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าขึ้น  โดยกำหนดความเร็วในการขับขี่ของทีม Rider เพื่อความปลอดภัยด้วย