รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
“รอไม่ได้ ช้าไม่เป็น” จริตของคนไทยในยุคหัวร้อน ที่สะท้อนไม่ใช่เพียงแค่ข่าวรายวันดูจะกำลังหยั่งรากลงในวิถีชีวิตของคนเมืองใหญ่ ๆ หลายเมือง ไม่ใช่แค่คนกรุงเทพเท่านั้น
เมื่อมาผนวกกับ “ความสะดวก สบาย และได้ดั่งใจ” จึงทำให้ธุรกิจต่าง ๆ เล็งหาช่องทางจากวิถีชีวิตตรงนี้
ยิ่งมาเจอภาวะที่ต้องผจญกับ “อากาศร้อน รถติด โควิด-19” ทำให้มนุษย์ในเมืองใหญ่ ๆ ไม่อยากจะย่างกรายไปไหนเลย และต้องพบเจอมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เข้าไปอีกก็จบเห่ ในวิถีชีวิตที่สามารถไปไกลได้ทุกหย่อมหญ้า
“อาหาร” 1 ในปัจจัย 4 ที่จะต่อลมหายใจของชีวิต เป็นสิ่งที่ทำให้คนต้องขวนขวายเพื่อตอบสนองตนเองและครอบครัว “ธุรกิจด้านอาหาร” จึงกระโดดเข้ามาแบบถูกจังหวะ ถูกเวลาพอดี โดยเฉพาะ “อาหารเดลิเวอรี่”
ทำให้ อาหารเดลิเวอรี่ไม่ใช่แค่ทำอาหารแล้วก็ส่งให้ลูกค้าตามที่สั่ง โดยอาศัยแค่มอเตอร์ไซด์รับจ้างปากซอยเท่านั้นก็เพียงพอ
แต่ “โลจิสติกส์สำหรับอาหารเดลิเวอรี่” (Food Delivery Logistics) ก็ปรากฏตัวแบบเป็นรูปธรรม
ที่ชัดเจนทันที
ผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่สะท้อนความเห็นของผู้ใช้บริการอาหาร
เดลิเวอรี่ 1,043 คน เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมาพบว่า เคยสั่งอาหารเดลิเวอรี่ จาก Grab Food 27.05% สั่งโดยตรงกับทางร้าน (เช่น IG FB Web) 26.04% LINEMAN 20.96% Food Panda 15.29% Get Food 10.12% ส่วนมอเตอร์ไซด์รับจ้างทั่วไปเพียง 0.08% เท่านั้น
ประเด็นนี้สอดคล้องกับ “ความต้องการที่แท้จริง” ที่ไม่ใช่ต้องการเพียงแค่อาหารที่จะได้รับ เพราะลูกค้าต้องการพนักงานส่งอาหารที่มีความสะอาดทั้งตนเองและกระบวนการในการจัดส่ง 94.83% จะต้องส่งตรงเวลา 92.11% รวมทั้งค่าจัดส่งต้องเป็นธรรม 90%
เมื่อต้องใช้บริการอาหารเดลิเวอรี่เป็นเวลานาน ๆ จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐบาล และต้องใช้ถี่ ๆ เพราะต้องกินทุกวัน จึงทำให้ “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่” รีบพลิกตำรา “ 4 C” มาตอบสนองลูกค้าแบบทันที ทันใด และทันใจเต็ม ๆ
*Convenience ทำอย่างไร? ให้ลูกค้าเกิดความสะดวกมากที่สุด
*Connection ทำอย่างไร? จะต้องมีเครือข่ายที่ดีและครอบคลุมร้านอาหาร และธุรกิจเกี่ยวกับ
การขนส่งให้มากที่สุดและดีที่สุด
* Communication ทำอย่างไร? จึงจะสื่อสารถึงลูกค้าได้ดีที่สุด
* Competitive differentiation ทำอย่างไร? จึงจะสร้างความแตกต่างในการแข่งขันให้ Brand ที่โดดเด่นมัดใจลูกค้าให้อยู่หมัด ไม่ว่าส่งเร็วกว่า หรืออาหารที่ถูกปากถูกใจมากที่สุด
แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ง่าย ๆ หากเผลอหลุด ไม่ว่าจะเป็น ช่องทางการติดต่อที่ยุ่งยาก เมนูอาหารพื้น ๆ บริการจัดส่งที่ต้องรอจนหายอยาก ยังไม่รวมถึง “อาหารไม่ตรงปก” ไม่มีโปรโมชั่นเลย เคยสั่งครั้งแรก ถึงครั้งที่ร้อยก็ยังคงเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้จะสร้างความเบื่อหน่ายให้กับลูกค้าที่พร้อมจะเปลี่ยนการเรียกใช้บริการทันที ยิ่งมีคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ด
“การทำเหมือนเดิม ก็คือการเดินถอยหลัง” ยังคงเป็นคำที่ใช้ได้ตลอดกาล โดยเฉพาะยุคนี้สมัยนี้ ถ้าไม่เชื่อลองไปดู “5 ธุรกิจเดลิเวอรี่ที่ทำให้ชีวิตสะดวกสบาย”
Seekster แอพลิเคชั่นที่ช่วยเรียกแม่บ้านมาทำความสะอาด บวกกับบริการช่างแอร์ ช่างประปา จนถึงกำจัดปลวก
Food Panda บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ที่มีร้านอาหารในเครือข่ายมากกว่า 1,000 ร้านให้เลือก
Lalamove บริการรับส่งของด่วน โดยเรียกรถผ่านแอพลิเคชั่น
LINEMAN เน้นบริการที่ครอบคลุม โดยเฉพาะร้านอาหารกว่า 40,000 ร้าน ส่งตรงถึงบ้านแบบทันอกทันใจ
honestbee ที่ช่วยในการเลือกสินค้าผ่านระบบออนไลน์ และนำมาส่งที่บ้าน ไม่ว่าจากร้านอาหารหรือแม้แต่ซุปเปอร์มาร์เก็ต
ที่ยกมาแม้เป็นเพียงบางส่วนของธุรกิจที่ไม่มีการหยุดนิ่ง จึงอยากจะกระตุ้นให้ท่านผู้อ่านได้คิดว่า แม้เคยมีผลสำรวจที่ว่า “คนกรุงส่วนใหญ่ถึง 79% เคยใช้บริการวินมอเตอร์ไซด์ในการเดินทาง”
แต่ก็อย่าด่วนสรุปว่า “การจัดส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่”…มีเพียงมอเตอร์ไซด์รับจ้างเท่านั้น!!