การนำ Information Technology มาใช้ในการบริหารจัดการอาหาร
รศ.ดร.ศิโรจน์ ผลพันธิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
เดลิเวอรี่ เป็นกระบวนการที่สำคัญของช่องทางการจัดจำหน่ายอาหารได้เป็นอย่างดี มีข้อมูลเป็นจำนวนมากและต้องใช้เวลาให้น้อยเพื่อความสะดวก รวดเร็ว จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วย ความสามารถใน
การบริหารจัดการข้อมูลต่าง ๆ ทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน สภาพการณ์โควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีทางด้านอาหารพัฒนาไป
อย่างรวดเร็ว เป็นความรู้อีกระบบหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ของคนเมือง
เมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ หลายคนอาจจะมองว่า “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่” กับ “IT” คือ คนละเรื่องเดียวกัน แต่ช่วง 2-3 ปีมานี้ คงต้องยอมรับว่า “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่” ขาด IT ไม่ได้ ! เพราะ IT กลายเป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองในการขับเคลื่อน “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่” ไปเสียแล้ว…!!!
สิ่งที่ทำให้ IT เข้ามาเติมเต็ม “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่” นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคออนไลน์ หรือกระแสเทคโนโลยีที่ทำให้แอพต่างๆ สามารถตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคที่ “รอไม่ได้…ช้าไม่เป็น” เพียงเท่านั้น
แต่ประโยชน์ของ IT ที่ทำให้เกิด win-win situation ต่อ “วงจรธุรกิจเดลิเวอรี่” ไม่ว่าจะเป็น…ผู้จัดส่งอาหารหรือธุรกิจ Food Delivery จำเป็นต้องเรียนรู้ในการนำฐานข้อมูลลูกค้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการนำหลัก Data Analytics คือ กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่เหล่านั้นเพื่อที่จะได้นำมาใช้ประโยชน์ได้ โดยจะมีตั้งแต่การคัดแยกข้อมูลเพื่อจัดกลุ่มและหาความสัมพันธ์ของข้อมูล ไปจนถึงกลั่นกรองข้อมูลที่จำเป็นเอาไว้และตัดข้อมูลที่ไม่จำเป็นออกไป เพื่อช่วยให้ผู้บริหารองค์กรธุรกิจสามารถตัดสินใจทางธุรกิจในเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ
ดังนั้น เมื่อต้องวิเคราะห์ข้อมูล ก็คงต้องใช้ IT แบบเต็มเต็ม จนทำให้ได้แนวทางที่จะเข้าถึงใจผู้ใช้บริการ เพราะหากหวังใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบง่ายๆ ประเภท ลด แลก แจก แถม เพียงอย่างเดียวก็คงทำให้ได้ “ลูกค้าแบบขาประจำ” ยากยิ่งกว่ายาก..!!
ร้านอาหาร ดูเหมือนจะได้ประโยชน์จาก IT และแอฟ Food Delivery ต่างๆ ค่อนข้างมาก เนื่องจาก ทำให้ได้ลูกค้าหลากหลายกลุ่ม เพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายโดยไม่ต้องเสียค่าการตลาด เรียกได้ว่าจากที่เคยขายแค่ในละแวกร้าน แต่พอมีช่องทาง Online และบริการจัดส่งอาหาร ก็ทำให้ได้ฐานลูกค้ามากขึ้น เป็นที่รู้จัก นำไปสู่ยอดขายที่เพิ่มขึ้น
จนทำให้ ณ วันนี้ มีหลายๆ ร้านอาหารที่ยกระดับจาก “ร้านธรรมดา” เป็น “ร้านยอดนิยม” ก็เพราะการขาย Online …นั่นเอง!
การที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการจัดส่ง เพราะมี ธุรกิจ Food Delivery ที่มีความทันสมัยโดยอาศัย IT คอยสนับสนุน
ก็ทำให้ร้านอาหารสามารถให้ความสำคัญกับการทำอาหารได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งดูแลเรื่องมาตรฐานในการประกอบอาหาร ความสะอาด และสุขอนามัย ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในสังคมให้ความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน
ขณะที่ การเข้าถึงและมีฐานข้อมูลของร้านอาหาร ทำให้ร้านอาหารได้รับประโยชน์มีประโยชน์ต่อการบริหารร้านอาหารมาก เพราะร้านสามารถดูได้ว่าเมนูไหนที่ขายดี ช่วงเวลาไหนที่มีคนสั่งอาหารจำนวนมาก โปรโมชั่นแบบไหนที่คนชอบ ทำให้สามารถวางแผน และคาดการณ์ยอดขายได้ล่วงหน้า
นอกจากนั้น การจ่ายเงินผ่านแอพยังช่วยลดความเสี่ยงด้านการเงิน ทั้งปัญหาการเก็บเงินสด การทอนเงินผิด หรือ ปัญหาเงินหาย นี่ยังไม่รวมการหลีกเลี่ยงสัมผัสธนบัตรและเหรียญในภาวะการณ์โควิด-19 ระบาดอีกด้วย
ส่วน “ลูกค้าหรือผู้บริโภค” ที่นิยมสั่งอาหารเดลิเวอรี่ นอกจากจะได้รับอาหารที่สดใหม่ จากร้านอาหารที่หลากหลาย มีโอกาสเลือกร้านอาหารได้ตามความต้องการมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางออกจากบ้านแล้ว การที่ทุกคนในสังคมต้องระแวดระวังจากโควิด-19 โดยการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ก็ยิ่งทำให้การสั่งอาหารเดลิเวอร์รี่กลายเป็นทางเลือกในการรับประทานอาหารที่ทวีความนิยมและตอบสนองความต้องการของคนในปัจจุบัน ซึ่งกระบวนการสำคัญทั้งสะดวกและรวดเร็ว ล้วนแต่ IT มีส่วนช่วยเติมเต็มตลอด
ที่กล่าวไปทั้งหมดนี้ คือ ภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่า ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่” ขาด IT ไม่ได้จริงๆ!! ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงอาหารเดลิเวอรี่เท่านั้น แต่ธุรกิจอาหารข้ามประเทศยังจำเป็นต้องประยุกต์ใช้ IT ในการขับเคลื่อนธุรกิจ ดังเช่น แนวคิดในแบบ Food Innopolis ที่จะเกิดขึ้นระหว่างการร่วมมือของประเทศไทยและบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Huawei คือ การร่วมมือกันสร้าง Smart City หรือเมืองแห่งนวัตกรรมใหม่ที่จะมีการใช้ระบบแบบ Big Data เพื่อรวบรวมความรู้ทุกอย่างภายในเมืองให้กลายมาเป็นสารสนเทศแบบดิจิตอลหรือ Digital literacy นี่ก็ไม่พ้นเรื่อง IT
เมืองอัจฉริยะ Smart City จะเริ่มเป็นที่แรกของประเทศไทยที่จังหวัดภูเก็ต จะมีการจำลองตัวเมืองและเน้นให้ภูเก็ตกลายเป็นเมืองศูนย์กลางที่จะผลักดันให้ผู้ประกอบการในทุกด้านบนเกาะภูเก็ตได้ใช้งานเทคโนโลยีแบบ Tech startup กันมากยิ่งขึ้น โดย Food Innopolis คือ การทำให้เกิดเมืองแห่งนวัตกรรมอาหาร เพื่อผลักดันให้ครัวไทยไปสู่ครัวโลกที่เป็นรูปธรรมเสียที ซึ่งจะทำให้อาหารไทยและวัตถุดิบในประเทศไทยที่มีคุณภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้ และฉายคุณค่าของตัวเองได้อย่างยั่งยืน
แม้ว่าโลกยุคดิจิตัลจำเป็นต้องพึ่งพิง IT เป็นส่วนสำคัญ ที่ผ่านมาดูจะเป็นภาคทฤษฎีเสียมากกว่า แต่เมื่อเกิดโควิด – 19 กลับกลายเป็น New normal ด้านการประยุกต์ IT ที่ต้องทำให้เป็น ไม่ใช่แค่เรียนรู้ไว้คุยเท่านั้น ต้องลงมือปฏิบัติได้จริง ๆ เสียที
ณ วันนี้ คงต้องยอมรับว่า “ธุรกิจด้านอาหาร” มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าจะให้เติบโตอย่างยั่งยืน ก็คงต้องอาศัยศาสตร์อื่นๆ มาเป็นตัวเสริม โดยเฉพาะ IT ที่ได้แทรกซึมเข้าไป ในทุกธุรกิจจนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อย่างแน่นอน.
ดร.สวงค์ บุญปลูก
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
วีระพันธ์ ชมภูแดง
ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่สร้าง New Normal ให้กับวิถีชีวิตใหม่ในสังคม ปัจจุบันธุรกิจ Delivery ถือว่าได้รับความนิยมค่อนข้างสูง เช่นเดียวกับ Business Unit ใหม่ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ที่เรียกว่า SDU Delivery โดยสร้างโอกาสจากองค์ความรู้ด้านอาหารมาผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีอยู่ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตจนเกิดการเชื่อมโยงกันแบบ Connectivism จากนโยบายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศสู่การปฏิบัติเริ่มต้นจากการพัฒนา Suan Dusit Delivery Platform แต่ทั้งนี้จะทำอย่างไรให้โลกออนไลน์รู้จัก SDU Delivery ที่เป็นอีกหนึ่งช่องทางการขยายโอกาสทางการตลาดออนไลน์เพิ่มมากขึ้นจึงเป็นงานที่ท้าทายอย่างยิ่ง การให้ความสำคัญในการออกแบบเว็บไซต์ที่จะต้องติด 1 ใน 5 ลำดับแรกของ search engine ระดับโลกอย่าง google จะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ชื่อเว็บไซต์ (URL) ได้แก่ https://delivery.dusit.ac.th คำสำคัญที่ใช้ (Keywords) ได้แก่ สวนดุสิตเดลิเวอรี่ sd delivery delivery สวนดุสิต อาหารเดลิเวอรี่ อาหาร food delivery SuanDusitDelivery มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดังนั้นการทำ Search Engine Optimization (SEO) ที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ลูกค้าค้นหาได้ง่าย เกิดความสนใจ และเชื่อมั่นในการให้บริการ
ดร.ศุภกร ปรุงศิลป์ชัย
นักวิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์
ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจ Delivery service เข้ามามีบทบาทสำคัญทางธุรกิจ ด้วยความเจริญเติบโตของตลาดที่แพร่กระจายไปยังทุกพื้นที่ ตอบโจทย์ทุกเพศทุกวัย จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ตอบโจทย์ลูกค้า มีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูล เลือกชม สั่งสินค้า เช็คสถานะการขนส่ง ได้บน Platform ต่างๆ ได้ทุกที่ทุกเวลา การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี กับ สวนดุสิตเดลิเวอรี่ จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ Back-office และ Post-office เช่นระบบช่องการขายสินค้า ระบบการสั่งอาหาร ระบบการออกเอกสาร ระบบการพูดคุยกับลูกค้า และระบบรายงานต่างๆรวมไปถึงรายงานเชิงวิเคราะห์ เพื่อตอบสนองความต้องการและพัฒนาคุณภาพในการให้บริการกับลูกค้า