รศ.พัชรี สวนแก้ว
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
คงไม่มีใครกล้าปฏิเสธว่าปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ โดยมีประชากรผู้สูงอายุ มากกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2570-2571 จากจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเล็งผลเลิศต่อลูกค้ากลุ่มนี้ เพราะเป็นโอกาสทองสำหรับธุรกิจในอนาคตก็เป็นได้
ทำไม? จึงต้องให้ความสำคัญ และหันมาเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มนี้…ข้อเขียนนี้น่าสะท้อนอีกหนึ่งมุมมองเกี่ยวกับ “ตลาดผู้สูงวัย” ..!!
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ผู้สูงวัย” เป็นตลาดที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากจำนวนประชากรมีไม่น้อยแล้ว กลุ่มสูงวัยยังเป็นลูกค้าที่ “มีกำลังซื้อสูง” สถานะทางการเงินที่ดีกว่ากลุ่มอายุอื่น และพร้อมที่จะจ่ายเพื่อให้ได้สิ่งที่มีคุณภาพ รวมทั้ง “Brand Loyalty สูง” มีโอกาสในการเป็นลูกค้าประจำที่ยั่งยืน เนื่องจากผู้สูงอายุมีความผูกพันกับบริการต่างๆ ที่ตัวเองรู้สึกชอบมากกว่าลูกค้าในวัยอื่นๆ ซึ่งอาจจะทำให้ร้านได้ฐานลูกค้าที่กลับมาซื้อซ้ำซ้ำอีก..!!
พูดง่ายๆ ก็คือ หากครองใจ “ผู้สูงวัย” สำเร็จ ย่อมทำให้ได้ลูกค้าคุณภาพทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพแบบ 2 in 1..!!
จากเหตุผลที่กล่าวในข้างต้น ทำให้ ณ วันนี้ ธุรกิจต่างๆ จึงออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ เพื่อตอบสนองความต้องการ และมุ่งเจาะตลาดผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ การจัดหาผู้ดูแลผู้สูงวัยตามบ้าน สถานบริการดูแลผู้สูงสูงวัย การท่องเที่ยวหรือทัวร์สำหรับผู้สูงวัย ฟิตเนสที่เน้นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับวัย หรือแม้แต่ธุรกิจให้บริการอาหาร โภชนา เพื่อสุขภาพ
หากต้องการเจาะตลาดกลุ่มดังกล่าว ก็จำเป็นจะต้องเรียนรู้พฤติกรรม โดยกลุ่มผู้สูงวัยจะให้ความสำคัญกับสุขภาพ แล้วยิ่งเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซ้ำเติมเข้ามาอีก ก็ยิ่งทำให้ผู้สูงวัยใส่ใจประเด็นดังกล่าวมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น ถ้าหวังจะขายของให้ “ผู้สูงวัย” คงต้องชูจุดแข็งของผลิตภัณฑ์และบริการในด้านสุขภาพ ถึงจะได้ใจแบบเต็มเต็ม
ในส่วนของธุรกิจอาหารหากหวังจะซื้อใจผู้สูงวัยจะให้ความสำคัญเพียงแค่รสชาติไม่ได้ แต่ต้องยึดคำพูดที่ว่า “กินอาหารให้เป็นยา” เป็นแนวคิดหลักในการกำหนดเมนูอาหาร เนื่องจากผู้สูงวัย หากได้ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และเหมาะกับช่วงวัยจะช่วยให้ชีวิตที่ยืนยาวมากยิ่งขึ้น
ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานต้องมีการพัฒนาให้เหมาะสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ตัวอย่างเช่น มีปริมาณโซเดียม น้ำตาล และไขมันต่ำ รวมทั้งการมีอาหารพร้อมรับประทานสูตรพิเศษสำหรับผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว เป็นต้น จากเหตุผลดังกล่าวทำให้ “ธุรกิจอาหารสุขภาพ” กลายเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่เติบโตได้อีกมาก
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้สูงวัย การออกไปซื้อหรือรับประทานอาหารนอกบ้านอาจจะเป็นเรื่องลำบาก ไม่สะดวก หรือบางคนไม่ชอบออกจากบ้านไปไหน ดังนั้น อาหารเดลิเวอรี่ (Food delivery) จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้สูงวัยที่ต้องอยู่บ้านคนเดียว ซึ่งสามารถเลือกอาหารที่จะทำให้ได้รับสารอาหารต่าง ๆ ในแต่ละมื้อได้อย่างครบถ้วนและสมดุล รวมทั้งยังลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุจากการทำครัว นับว่าเป็นแรงส่งให้ “อาหารเดลิเวอรี่” โดนใจผู้สูงวัยอย่างจัง
ถ้าจะกล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ “ผู้สูงวัยต้องการอาหารสุขภาพ สะอาดถูกหลักอนามัย และควรจะมีบริการจัดส่งถึงหน้าบ้าน ภาพสะท้อนที่เป็นรูปธรรมของความต้องการดังกล่าว ปรากฏจากผลสำรวจของ “สวนดุสิตโพล” ที่สอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภค “อาหารเดลิเวอรี่” อายุ 50 ปีขึ้นไป ทำให้พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจสั่งอาหารเดลิเวอรี่ที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากที่สุด ร้อยละ 97.47 คือ ความสะอาดถูกหลักอนามัย รองลงมา ได้แก่ ความสะอาดของพนักงานส่งอาหาร ร้อยละ 95.02 รสชาติอร่อย ร้อยละ 92.03 ส่งตรงเวลา ร้อยละ 91.78 และ ติดต่อสะดวก/ได้หลายช่องทาง ร้อยละ 91.56
ส่วนรายการอาหารที่ผู้สูงวัยสนใจทั้งคาวและหวาน สรุปได้ ดังนี้ อาหารคาวที่ครองใจ “ผู้สูงวัย” มากที่สุด ร้อยละ 82.71 คือ ผัดไทย ข้าวคลุกกะปิ รองลงมา ร้อยละ 80.99 และขนมจีนน้ำยา ร้อยละ 79.72 ขณะที่อาหารหวานยอดฮิตสำหรับ “ผู้สูงวัย” ร้อยละ 76.91 คือ บัวลอย รองลงมา ได้แก่ เต้าฮวยฟรุ๊ตสลัด ร้อยละ 75.75 และข้าวต้มมัด ร้อยละ 66.59
เมื่ออ่านข้อเขียน “อาหารเดลิเวอรี่แบบใด? ที่ถูกใจ “ผู้สูงวัย”..!!” จบแล้ว เชื่อว่าผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร โดยเฉพาะแบบเดลิเวอรี่น่าจะพอคาดเดา หากลยุทธ์ ตลอดจนวิธีการมัดใจกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยได้ไม่ยาก…!!
แต่ถ้ามองให้กว้างขึ้น โดยนำหัวใจของการดำเนินงานที่ว่า “อาหารที่ได้มากกว่าอาหาร”… ทั้ง “อาหารเป็นยารักษาโรค”… “อาหารที่สร้างสุนทรีย์ในการบริโภค” ก็น่าจะยิ่งทำให้ “มัดใจลูกค้าสูงวัย” ได้อยู่หมัดแบบดิ้นไม่หลุดแน่นอน..!!