“อาหารเดลิเวอรี่” : จาก “จีน” สู่ “ไทย”

ดร.พรชณิตว์ แก้วเนตร
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ความเฟื่องฟู่ของ “อาหารเดลิเวอรี่ในประเทศไทยในระบบออนไลน์” ณ วันนี้ ที่เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจซึ่งเติบโตสวนกระแสวิกฤติโควิด-19 ก็ว่าได้ โดยปรากฏการณ์การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจ   “อาหารเดลิเวอรี่” ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ในไทยเท่านั้น แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

รูปแบบการสั่งอาหารออนไลน์เกิดขึ้นครั้งแรกในโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะเริ่มได้รับความนิยมในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยการดำเนินการในอุตสาหกรรม Food delivery ของจีน     เริ่มแรกนั้น เป็น “การสั่งอาหารทางโทรศัพท์” ก่อนที่ในปี 1990 จะมีบริการ “สั่งซื้อบนเว็ปไซด์” ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักเรียนนักศึกษาและพนักงานบริษัท

ในปี 2012 เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วของ Smart phone ทำให้ Application WeChat เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ของจีน” ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง โดย “Meituan”    ของ Application ยอดนิยมในจีนมียอดคำสั่งซื้อประมาณ 3 ล้านคำสั่งซื้อต่อวัน พื้นที่ส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้น 65% ในปี 2020

แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ขึ้น “Meituan” ได้เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการใหม่ ด้วยบริการแบบ “Contactless Delivery” ที่ผู้ส่งจะไม่ต้องสัมผัสกับภาชนะบรรจุอาหารหรือลูกค้า โดยผู้สั่งจะต้องไปรับอาหารที่จุดรับสินค้า (Pickup Station) ตามแต่ละบริเวณให้บริการ

ทั้งหมดนี้ คือ ภาพสะท้อนพัฒนาการของ “อาหารเดลิเวอรี่ของจีน” จากยุคที่เฟื่องฟู่ สู่ยุคแห่งการปรับตัว ซึ่งหากถอดรหัสองค์ความรู้แล้ว จะพบปัจจัยแห่งความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วย

1) ความหนาแน่นของประชากรในจีน ซึ่งเป็นปัจจัยกำหนดขนาดของตลาดและระยะทางที่ผู้ค้าแต่ละรายจะสามารถส่งมอบอาหารให้ลูกค้าได้ นอกจากความสะอาดของอาหาร ราคาที่ลูกค้ารับได้ “ความรวดเร็ว” ในการขนส่งอาหาร นับเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างมากในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งหากประชากรมีความหนาแน่นสูง ความสามารถในการขนส่งอาหารโดยใช้เวลาน้อยจะสามารถทำได้มากกว่าพื้นที่ที่ประชากรมีความหนาแน่นต่ำ

2) ต้นทุนแรงงานที่ต่ำของประเทศจีน ทำให้ธุรกิจ Food delivery ที่ต้องใช้กำลังคนอย่างมาก       ในการจัดส่งอาหารมีต้นทุนต่ำ การสั่งซื้ออาหารออนไลน์ในประเทศจีนราคาไม่ได้ต่างจากการซื้ออาหารรับประทานที่ร้านเท่าใดนัก นอกจากนี้วัฒนธรรมทางสังคมที่ผู้ให้บริการส่งอาหารยินดีตอบสนองความต้องการอื่นๆ เช่น การช่วยซื้อบุหรี่ ของใช้อื่นๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แทบจะไม่เกิดขึ้นเลยในสังคมอเมริกัน

3) ความหลากหลายของประเภทอาหารในจีน ตลอดจนวัฒนธรรมการรับประทานอาหารขณะที่อาหารยังร้อน ทำให้ผู้บริโภคต้องพึ่งพาแพลตฟอร์ม Food delivery มากขึ้น ซึ่งจะได้เปรียบในเชิงการพัฒนาเมื่อเทียบกับประเทศที่วัฒนธรรมการรับประทานอาหารไม่จำเป็นต้องทานร้อน ประเภทอาหารไม่หลากหลาย อย่างเช่นประเทศในยุโรปหรืออเมริกา ซึ่งทำให้ลูกค้าเกิดการจำเมนูได้ ไม่ต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มมากนัก การเติบโตจึงเกิดขึ้นช้ากว่า

4) ความสำเร็จในการพัฒนาระบบการชำระเงินที่เรียกว่า e-Payment ของจีน ทำให้เกิดสังคมไร้เงินสด (Cashless society) ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ที่แม้กระทั่งหาบเร่ยังใช้ QR Code ในการรับเงินค่าสินค้าหรือบริการ ความสะดวกสบายในการชำระค่าอาหารที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดแรงหนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารเดลิเวอรี่ที่มากยิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการและถูกจริตต่อพฤติกรรมผู้บริโภค

การศึกษาความเป็นมา และปัจจัยความสำเร็จของ “ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ของประเทศจีน”            ซึ่งมีขนาดตลาดใหญ่ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก มีความซับซ้อน และการหาแนวทางเอาใจผู้บริโภคได้ไม่ง่าย ดังนั้น การศึกษาและประยุกต์ใช้ข้อมูลจากตลาดที่มีความซับซ้อนย่อมเป็นทางลัดของมุ่งสู่ความสำเร็จของธุรกิจเดลิเวอรี่ไทยได้เป็นอย่างดี

แต่อย่างไรก็ตามถ้าจะให้ดีหากการถอดแบบความสำเร็จจากจีนแล้ว ก็คงต้องนำมาผนวกกับ “อาหารเดลิเวอรี่แบบไทยไทย” ที่มีการให้บริการบนฐานแห่ง “รอยยิ้มสยาม” ความมีน้ำใจทั้งผู้รับบริการและให้บริการ…นี่แหละ คือ รากฐานของความสำเร็จที่ยั่งยืนของ “อาหารเดลิเวอรี่แบบไทยไทย” อย่างแท้จริง..!!